โฆษณาถือเป็นรายได้หลักของละคร ไม่ว่าจะของชาติไหนๆ ซึ่งหลักๆ โฆษณาในละครจะมีอยู่ 3 รูปแบบหลักๆ คือ โฆษณาในช่วงเวลาที่จัดให้โดยเฉพาะ โฆษณาในช่วง Title หรือ End Credit ของละคร และโฆษณาแฝงที่รวมอยู่ในเนื้อหาของละคร ทั้งไทยและเกาหลีก็มีโฆษณาททั้ง 3 รูปแบบเหมือนๆ กัน แต่ส่วนที่ต่างมากสุดก็คือ โฆษณาแบบแรก ที่ไทยกับเกาหลีกำหนดช่วงเวลาโฆษณาไว้ต่างกัน
สำหรับไทย ช่วงโฆษณาจะคั่นอยู่ระหว่างรายการเป็นช่วงๆ ตามกฎหมายแล้วกำหนดให้สถานีสามารถโฆษณาได้ไม่เกิน 12 นาทีครึ่งต่อชั่วโมง (ในความเป็นจริงมักจะเกิน) หรือถ้าเป็นเคเบิล/ดาวเทียมก็ไม่เกิน 6 นาทีต่อชั่วโมง โดยช่วงจะแบ่งโฆษณาออกเป็นช่วงๆ สลับกับรายการ อย่างถ้าเป็นละครความยาวประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง ก็จะมีละคร 9 เบรก เบรกละประมาณ 13 นาที สลับกับโฆษณา 8 เบรก เบรกละประมาณ 4 นาที เป็นรูปแบบที่ใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน
ขณะที่เกาหลีใต้ จะมีโฆษณาเพียงแค่เบรกเดียวเท่านั้น นั่นคือช่วงก่อนเข้าละครหรือรายการ นั่นแปลว่าละครเกาหลีจะฉายยิงยาวรวดเดียวจบตอน (ประมาณ 60-70 นาที) ไม่มีโฆษณาคั่นเลย อย่างไรก็ตาม ช่วงที่เป็นโฆษณาก็จะมีแต่โฆษณายิงยาวเป็น 10 นาทีเช่นกัน (แต่ถ้าเทียบกับของไทยแล้ว เวลาโฆษณาบ้านเขาถือว่าน้อยกว่า) ทั้งนี้ รูปแบบการโฆษณาเช่นนี้จะใช้กับทีวีช่องหลัก แต่ถ้าเป็นช่องเคเบิล ก็ใช้วิธีโฆษณาคั่นรายการเป็นเบรกๆ ไปเหมือนไทย
รูปแบบโฆษณาที่ต่างกัน ส่งผลต่อรูปแบบการทำละครและพฤติกรรมการรับชมที่ต่างกันด้วย การวางจุดพีค จุดไคล์แมกซ์ก็จะแตกต่างกัน ถ้าเป็นแบบเกาหลีก็อาจใส่จุดพีคหลักไว้แค่ในช่วงท้ายตอน ขณะที่ของไทยต้องทำให้มันกระจายๆ ไปทุกเบรค ไม่งั้นกว่าจะรอให้ถึงจุดสำคัญ คนก็กดรีโมทเปลี่ยนช่องแล้ว ยิ่งการโฆษณาแทรกระหว่างรายการ ยิ่งเอื้อให้การเปลี่ยนช่องทำได้ง่ายด้วย
สำหรับค่าโฆษณานั้น ช่วงเวลาละครหลังข่าว ถ้าเป็นช่อง 3 จะอยู่ที่ 480,000 บาทต่อนาที ส่วนช่อง 7 อยู่ที่ 500,000 บาทต่อนาที (แถมโฆษณาช่อง 7HD ให้ด้วย) ประมาณว่าละคร 1 ตอนแต่ละช่องได้เม็ดเงินโฆษณาประมาณ 15 ล้านบาท ขณะที่ของเกาหลีได้ค่าโฆษณาช่วงละคร Prime Time ประมาณ 300-400 ล้านวอน (9-12 ล้านบาท) คิดเป็นนาทีก็ประมาณนาทีละ 9 แสน – 1.2 ล้านบาทต่อนาที สูงกว่าไทย 2-3 เท่าเลยทีเดียว
เพิ่มเติม… ในกรณีโฆษณาแฝง ทางเกาหลีใต้มีกฎหมายควบคุมเรื่องนี้อยู่ ดังนั้น จะสังเกตว่าละครเกาหลีไม่ค่อยโชว์ตราสินค้าเท่าไหร่ แต่ถึงจะไม่โชว์ แต่ละครเกาหลีก็จะมีวิธีการบางอย่างที่ทำให้คนพอรับรู้ว่านี่คือสินค้าอะไร ยี่ห้ออะไร เม็ดเงินจากการโฆษณาแฝงในละครเกาหลีจึงมีไม่น้อยเลยทีเดียว และบางทีก็มาแบบไม่รู้ตัว (ที่เห็นได้ชัดๆ คือ Galaxy Note ที่ใช้กันทุกเรื่อง) ส่วนของไทยนั้น ไม่มีกฎหมายคุมเรื่องนี้ (หรือมี แต่ไม่ทราบ) การใส่โฆษณาแฝงจึงมีนิยมโชว์ให้เห็นตราสินค้าชัดเจน ซึ่งบางทีก็เนียน แต่บางทีก็ไม่เนียนเช่นกัน (โดยเฉพาะละครซิทคอมของ Exact ที่ทุกเรื่องต้องมีฉากร้านชำ เพื่อ Tie-in โดยเฉพาะ)