[Review] Shoplifters – แค่ให้กำเนิด..ไม่ได้หมายความจะเป็นแม่ได้จริงๆ หรอกนะ
“Shoplifters” คือผลงานเรื่องล่าสุดของ “ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ” ผู้กำกับชาวญี่ปุ่นที่มีผลงานเข้าฉายในไทยอย่างสม่ำเสมอ โดย Shoplifters น่าจะถือเป็นจุดสูงสุดในชีวิตการทำงานของเขาขณะนี้ อย่างน้อยก็ในแง่การยอมรับจากเวทีรางวัลนานาชาติ เพราะเรื่องนี้เป็นเจ้าของรางวัล “Palm d’Or” จากเทศกาลหนังเมืองคานส์ปีล่าสุด
แต่ขึ้นชื่อว่าหนังคานส์ หลายคนคงคิดไปว่าจะดูยากหรือเปล่า ต้องปีนบันไดดูมั้ย ซึ่งสำหรับ “Shoplifters” มันก็ไม่ถึงขนาดนั้น หนังเข้าใจได้ไม่ยาก แต่แน่นอนว่ามันมีสไตล์การเล่าเรื่องที่แตกต่างจากหนัง Mass ทั่วไปอยู่ ยิ่งถ้าใครเป็นแฟนของผู้กำกับคนนี้ จะยิ่งคุ้นชิน เพราะ Shoplifters ยังคงสไตล์ความเป็นหนังครอบครัว ที่เน้นเล่าเรื่องแบบเรื่อยๆ อาจไม่มีจุดพีคอะไร แต่ความเรียลของมันก็ทำให้เราหน่วงไปกับหนังได้
สิ่งที่น่าทึ่งอย่างหนึ่งของโคเรเอดะ คือในขณะที่เหมือนเขาจะทำแต่หนังแนวเดิมๆ ประเด็นเดิมๆ แต่ทุกเรื่องกลับมีความน่าจดจำในตัวเอง
“Shoplifters” เล่าเรื่องราวของครอบครัวชนชั้นล่างในญี่ปุ่น ที่หากินกับงานใช้แรงงาน ใช้ร่างกาย และการลักขโมยของในร้านค้า และวันหนึ่งพวกเขาก็ได้รับเอา “ยูริ” เด็กสาวที่โดนครอบครัวตัวเองทำร้าย ซึ่งพวกเขาเจอโดยบังเอิญตอนกลับบ้านห
ลังขโมยของเสร็จมาอยู่ด้วย อย่างไรก็ตาม สำหรับหนังเรื่องนี้แล้ว ยูริไม่ใช่จุดศูนย์กลางของเรื่อง หากแต่เป็นเสมือนประตูให้เราเข้าไปรู้จักครอบครัวนี้ยิ่งขึ้น
ผมอาจดูเคยดูหนังของโคเรเอดะไม่ครบทุกเรื่อง แต่เท่าที่เคยดูมา จะพบว่าหนังของโคเรเอดะ มักตั้งคำถามถึง “ความเป็นครอบครัว” ที่อาจไม่ได้จำกัดแค่การเป็นสายเลือดเดียวกัน บ่อยครั้งที่หนังโคเรเอดะแสดงให้เห็นว่า ความสัมพันธ์เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น ไม่ใช่สิ่งที่มีมาแต่เดิม อย่างใน Shoplifters ที่เมื่อดูๆ ไปเราจะพบว่า….(ตรงนี้ขอ Spoil นิดหน่อย)….ครอบครัวหัวขโมยในเรื่องที่ประกอบด้วย 6 ชีวิต (รวมยูริด้วย) นั้นไม่ได้มีสายเลือดเดียวกัน แต่มันกลับให้ความรู้สึกอบอุ่นราวกับพวกเขาเป็นครอบครัวกันจริงๆ
อย่างไรก็ตาม ในประเด็นที่ลึกไปกว่านั้น Shoplifters ก็ตั้งคำถามว่า แล้วไอ้ความเป็นครอบครัวที่เป็นอยู่นั้น มันจริงแท้แค่ไหน การสอนให้คนในครอบครัวเป็นพวกลักขโมย คือครอบครัวจริงหรือ ในช่วงท้ายเป็นอะไรที่ท้าทายมุมมองเรามาก เมื่อเราได้รู้เบื้องหลังความเป็นมาของแต่ละคน ซึ่งมันสั่นคลอนสิ่งที่เรารับรู้มาตลอดทั้งเรื่อง สุดท้ายแล้วอะไรคือจริง อะไรคือหลอกกันแน่ และมันเด็ดตรงที่หนังเลือกจะไม่ตัดสิน แต่โยนให้เราขบคิดต่อ ซึ่งมันทำให้หนังติดอยู่ในหัวเราแม้จะจบเรื่องไปแล้ว
หนังของโคเรเอดะมักจะดำเนินเรื่องเนือยๆ เอื่อยๆ จึงเป็นหนังที่เหมาะกับการดูในโรงมากกว่า เพราะจะทำให้เรามีสมาธิกับหนังได้เต็มที่ และเมื่อเราจดจ่อกับหนังระดับหนึ่งแล้ว รู้ตัวอีกเราก็หลุดเข้าไปอยู่ในตัวหนังแล้ว เพราะทั้งบทสนทนา การดำเนินเรื่อง ทุกอย่างมันดู Real ดูจริงไปหมด จริงจนน่ากลัวอะ เสมือนเราได้ไปนั่งอยู่กับครอบครัวนี้ อาจไม่พีค ไม่ดราม่าขั้นสุด คือไม่ร้องนะ แต่มันหน่วงความรู้สึก และจบลงด้วยความโหวงเหวงมากมาย อันนี้น่าจะเป็นสเน่ห์ของหนังโคเรเอดะมั้ง ทำหนังที่แสนธรรมดา ให้ธรรมดาจนรู้สึกเหมือนเป็นชีวิตจริง
“Shoplifters” ยังค่อนข้างสะท้อนสังคมญี่ปุ่นหลายอย่างในปัจจุบัน ทั้งมุมเทาๆ ไปจนถึงด้านมืดของญี่ปุ่นที่มันไม่ได้ Cool อย่างที่รัฐบาลอยากให้เป็น หรือภาพความเป็นครอบครัว ซึ่งเดิมสังคมญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับ “สายเลือด” อย่างมาก แต่ในปัจจุบันที่คนในสังคมเริ่มมีความเป็นปัจเจกมากขึ้น คนรุ่นหนุ่มสาวหลายคนปฏิเสธที่จะมีครอบครัวหรือมีลูกเพราะมันตามมาด้วยภาระหน้าที่ความคาดหวังหลายอย่างที่มันเกินจะรับไหวในสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ แต่ลึกๆ แล้วคนเหล่านั้นยังอยากมีความผูกพันกับใครอยู่ มันเลยกลายเป็นการมองภาพ “ครอบครัว” แบบใหม่ที่ไม่ใช่แค่เรื่องของสายเลือดเท่านั้น แล้ว Shoplifters มันก็มากระแทกใจในประเด็นนี้พอดี
ไม่ใช่หนังที่สนุกนัก ไม่ใช่หนังที่เศร้าสุดขีด ไม่ใช่หนังที่แปลกใหม่ แต่เป็นหนังที่อยากให้ลองรับชมกัน ไม่ว่าคุณจะเป็นแฟนหนังของโคเรเอดะหรือไม่ก็ตาม
Related
- การรักษา Lockjaw - 01/24/2024
- อาการบาดทะยักคืออะไร? - 04/26/2023
- วิธีรักษาซิฟิลิส - 04/24/2023