[Review] Blade Runner 2049 – อีกคำตอบว่าทำไมเรายังต้องดูหนังในโรงกันอยู่

“Blade Runner 2049” คือภาคต่อของ “Blade Runner” ผลงาน Sci-fi ปรัชญาว่าด้วย “ความเป็นมนุษย์” ของ “Ridley Scott” ที่ออกฉายเมื่อปี 1982 ซึ่งตอนที่ออกฉายนั้น Blade Runner เรียกได้ว่าล้มเหลวทั้งเรื่องรายได้และคำวิจารณ์ และคงกลายเป็นอีกหนังที่ถูกลืมไปแล้ว ถ้าหลังจากนั้นไม่มีการตัดต่อทำเวอร์ชั่นใหม่ออกมา และทำให้หนังเริ่มกลับมาเป็นที่สนใจและได้รับการยกย่องในยุคหลังๆ ถึงความ “ล้ำสมัย” ของเรื่อง ทั้งในเชิง VFX ที่สรรค์สร้างบรรยากาศแบบ Dystopia ขึ้นมา จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้หนังหลายเรื่องยุคหลัง (Ghost in the Shell ทั้งฉบับ Animation และ Live Action คือ 1 ในนั้น) หรือประเด็นของเรื่องที่พูดถึงมนุษย์แท้ มนุษย์เทียม ความเป็นมนุษย์ ก็ล้ำสมัยมากในยุคกว่า 30 ปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม สารภาพโดยตรงเลยว่า ตัวเองดู Blade Runner แล้ว “หลับ…Zzzz” (ฉบับที่ดูเป็นฉบับ Final Cut ที่ทำออกมาตอนปี 2007 และน่าจะเป็นฉบับที่หาดูได้ง่ายสุดตอนนี้) เพราะหนังเดินเรื่องได้ค่อนข้างเอื่อยมาก ยิ่งดูจอ TV ในบ้านที่อาจมีสิ่งดึงสมาธิได้ง่ายยิ่งทำให้เราหลุดจากหนังได้ง่ายขึ้น ขณะที่ประเด็นของเรื่องแม้จะใหม่ในช่วงปี 1982 แต่พอมาดูในปี 2017 มันก็เก่าไปแล้ว ดังนั้น เลยทำให้ค่อนข้างหวั่นๆ กับ Blade Runner 2049 อยู่บ้าง แม้ว่าภาคนี้จะได้ “Denis Villeneuve” ที่กำลังมือขึ้นสุดๆ มากำกับก็ตาม

ผลคือ “คนละเรื่อง” เลย Blade Runner 2049 คือหนังในกลุ่มที่ทำให้เรารู้ว่าทำไม เรายังต้องไปดูหนังที่โรงกันอยู่ เช่นเดียวกับ Mad Max: Fury Road หรือ Dunkirk หนังใช้งานสร้างสรรค์ด้านภาพและเสียงในการสะกดเราไว้ เมื่อบวกกับฝีมือของ Denis Villeneuve ที่ค่อนข้างเก่งกาจในเรื่องการสร้างบรรยากาศที่แสนอึมครึม ลึกลับ แต่แฝงความน่าติดตามอยู่แล้ว ยิ่งดึงให้เราเข้าไปอยู่ในหนังเข้าไปอีก

งานด้านภาพของ Blade Runner 2049 ยังเดินตามรอยที่ภาคแรกวางไว้อย่างดี เป็น Dystopia ที่ผสมผสานตะวันตกเข้ากับตะวันออก (ญี่ปุ่น) มีความทันสมัย แต่ก็แฝงไปด้วยความเสื่อมโทรมของสภาพสังคม ที่เพิ่มเติมคือเหมือนภาคนี้จะใส่ “ความเหงา” เข้าไปเพิ่มขึ้น ด้วยการใส่ภาพมุมกว้างอันเวิ้งว้าง โดยมีตัวละครเป็นเพียงส่วนประกอบเล็กๆ ในภาพ เพื่อขับเน้นความรู้สึก “โดดเดี่ยว” ของตัวละครหลักมากยิ่งขึ้น ขณะที่ภาคแรกเท่าที่จำได้จะเน้นมุมมองภายในตัวเมืองมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ก็ต้องขอบอกว่านี่เป็นหนังที่ควรรับชมในโรงจริงๆ และต้องเป็นโรงที่คุณภาพดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อให้ได้อรรถรสจากหนังอย่างเต็มที่ หากมารับชมผ่านจอเล็กๆ ในบ้านแล้ว คิดว่าความรู้สึกคงคล้ายๆ กับตอนดูภาคแรกที่บ้านนั่นคือ…“หลับ” และBlade Runner 2049 มีความยาวเกือบ 3 ชั่วโมง และเป็นการใช้เวลาเกือบ 3 ชั่วโมงนั้น ไปในการสร้างบรรยากาศแวดล้อมให้เราเข้าถึงตัวละคร ขณะที่ตัวเนื้อเรื่องจริงๆ อาจมีไม่ถึงเวลานั้น มันเลยทำให้รู้สึกอืดๆ เอื่อยๆ ไปบ้าง ซึ่งถ้าดูในโรง เราจะได้งานภาพและเสียงมาชดเชยไว้ แต่การดูที่บ้าน หาก Home Theater เราไม่แกร่งพอ สมาธิเราก็อาจหลุดได้ง่ายดาย ดังนั้น เชียร์ให้ไปรับชมในโรงดีที่สุดครับ

ในแง่เนื้อเรื่อง Blade Runner 2049 ยังคงสานต่อปมจากภาคแรก ด้วยการให้ความสำคัญกับข้อถกเถียงเชิงปรัชญาถึง “ความเป็นมนุษย์” ซึ่งหากเป็นไปได้ ควรดูภาคแรกมาเพื่อให้เข้าใจคอนเซปท์คร่าวๆ ของจักรวาลนี้ และจะทำให้เราอินไปกับภาคนี้ยิ่งขึ้น แต่ถ้าไม่ได้ดูก็ไม่เป็นไร เนื้อเรื่องคร่าวพูดถึงโลกที่มีมนุษย์จริงกับมนุษย์เทียมที่ถูกผลิตขึ้นมาใช้แรงงาน แต่วันหนึ่งมนุษย์เทียมเกิดอยากปลดแอก ขณะที่มนุษย์จริงก็เริ่มรู้สึกไม่ชอบการมีมนุษย์เทียมที่ควบคุมไม่ได้อยู่ เลยเกิดกลุ่มคนที่เรียกว่า “Blade Runner” ไล่ล่าเหล่ามนุษย์เทียมขึ้นมา เป็นเหตุการณ์ในภาคแรก ส่วนภาค 2049 คือเรื่องราวในอีกเกือบ 30 ปีให้หลัง มีการพัฒนามนุษย์เทียมรุ่นใหม่ที่ควบคุมได้ขึ้นมา แต่ก็ยังมีพวกรุ่นเก่าที่หลบหนีอยู่ เลยยังจำเป็นต้องมี Blade Runner และคนที่รับหน้าที่นั้นในภาค 2049 ก็คือ “K” (Ryan Gosling) ต่างกันแค่ว่า จริงๆ แล้ว K ก็เป็นพวกมนุษย์เทียมเหมือนกัน

ประเด็นในภาคนี้ จึงไม่ใช่แค่ว่า ความเป็นมนุษย์คืออะไร ใครเป็นมนุษย์มากกว่า หรือใครเป็นมนุษย์จริงมนุษย์เทียมกันแน่ แต่คือการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของ “มนุษย์เทียม” คนหนึ่ง ที่ลึกๆ แล้วอยากเป็นมนุษย์จริง โดยที่ตัวเขาเองอาจยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตกลงแล้วไอ้ความเป็นมนุษย์ที่เขาใฝ่หาคืออะไร แต่อาจเพราะแรงกระตุ้นจากเพื่อนร่วมงานและคนรอบข้างที่มองเขาเป็นตัวประหลาด ทั้งที่เขาเองก็ทำงานเพื่อมนุษย์จริงมาโดยตลอด (ไล่ล่ามนุษย์เทียมด้วยกันเอง) ทำให้ K ยิ่งเกิดอาการสับสนในตัวเองมากขึ้นไปอีก เราจึงได้เห็นเขาชอบที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับ “Joi” (Ana de Armas) ภาพ Hologram เสมือนจริง ที่กลายเป็นเพื่อนดิจิตอลของเขา เพื่อให้เข้าถึงความรู้สึกของการเป็นมนุษย์จริงๆ โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์จริง ที่อาจไม่ยอมรับเขา

หนังใช้บรรยากาศความโดดเดี่ยว เวิ้งว้าง เพื่อขับเน้นอารมณ์ของ K อย่างได้ผล กระนั้น ด้วยความที่ประเด็น “ความเป็นมนุษย์” หรือ “อะไรจริงอะไรลวง” มันไม่ใช่ประเด็นที่ใหม่แล้วในปัจจุบัน ที่เด่นๆ ในช่วงใกล้ๆ นี้ก็ Ex Machina และซีรีส์อย่าง Westworld ซึ่งเรื่องหลังยังให้บรรยากาศที่คล้ายคลึงกันอีก เพราะเน้นความเรื่อยๆ ซึมลึกในอารมณ์ตัวละครเหมือนกัน ประเด็นใน Blade Runner 2049 จึงอาจไม่ได้สดใหม่นัก และดูจะเน้นไปที่มุมมองจากฝ่ายมนุษย์เทียมเพียงอย่างเดียว มากกว่าเน้นที่การถกเถียงเชิงปรัชญาอย่างจริงจัง จึงอาจยังไม่สุดในเชิงเนื้อหามากนัก กระนั้นก็เนื้อหาที่มีอยู่ก็ยังเพียงพอที่จะทำให้ Blade Runner 2049 กลายเป็นหนังปรัชญา Sci-fi ชั้นดีได้อยู่

ส่วนตัวพูดยากว่า ภาค 2049 สนุกกว่าภาคแรกหรือไม่ เพราะแม้เราจะไม่ประทับใจภาคแรกสักเท่าไหร่ แต่นั่นก็เพราะเป็นการดูแผ่นที่บ้าน ถ้าดูในโรงเราอาจ Enjoy ได้มากกว่านี้ เช่นเดียวกับ Blade Runner 2049 หากดูที่บ้านเราก็คงหลับแบบภาคแรก แต่ ณ ตอนนี้ การดู Blade Runner 2049 ในโรง โดยเฉพาะ IMAX นี่คือความ Enjoy ขั้นสุด เป็นคำตอบว่าทำไมเรายังต้องไปดูหนังในโรงกันอยู่

ถ้าชอบดูอะไรต่อดี: Blade Runner (1982), Ghost in the Shell (1995), Ex Machina (2015) และซีรีส์ Westworld (2016)

จุรีพร โนนจุ่น
Latest posts by จุรีพร โนนจุ่น (see all)