[Preview] 5 ความจริงจาก Deepwater Horizon

Deepwater Horizon เป็นภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นจากเหตุการณ์จริงการระเบิดของแท่นขุดเจาะน้ำมันในปี พ.ศ.2543 ซึ่งถือเป็นการระเบิดครั้งใหญ่ที่ทำให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมตามมากอย่างรุนแรง กระทบไปถึงบริษัท BP เจ้าของบ่อน้ำมันที่สูญเงินไปมหาศาลจากเหตุการณ์นี้

แต่นอกเหนือจากนั้น เหตุการณ์ครั้งนี้ยังมีแง่มุมของวีรบุรุษ การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ของเหล่าคนงานบนแท่นขุดเจาะ เพื่อเอาชีวิตรอดจากหายนะครั้งนี้ ซึ่งทั้งหมดถูกถ่ายทอดมาในภาพยนตร์เรื่อง Deepwater Horizon

และนี่คือ 5 ความจริงเบื้องหลังเหตุการณ์นี้ ที่อาจทำให้คุณรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ได้อย่างมีอรรถรสมากขึ้น

Deepwater Horizon เข้าฉาย 29 กันยายนนี้

1. Deepwater Horizon Drilling Rig

“Deepwater Horizon” เป็นชื่อสถานีขุดเจาะน้ำมันแบบเคลื่อนที่ ของบริษัท Transocean สร้างโดยบริษัท Hyundai Heavy Industries ในเกาหลีใต้ เมื่อปี พ.ศ. 2541 มีมูลค่ากว่า 560 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งมอบและเริ่มขุดเจาะน้ำมัน เมื่อปี พ.ศ.2544 บริเวณอ่าวเม็กซิโก โดยมี BP บริษัทน้ำมันจากอังกฤษ เป็นผู้รับสัมปทานและควบคุมการขุดเจาะ

Deepwater Horizon จัดเป็นหนึ่งในสถานีขุดเจาะน้ำมันขนาดใหญ่และมีประสิทธิภาพมากแห่งหนึ่งของโลก ตัวสถานีมีขนาดใหญ่เทียบเท่าสนามอเมริกันฟุตบอล ภายในมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย ทั้งฟิตเนส โรงภาพยนตร์ ห้องซาวน่า มีห้องพักสำหรับคนงานได้ถึง 146 คน แต่ละห้องมีห้องน้ำส่วนตัวและโทรทัศน์ระบบดาวเทียม จนคนงานขนานนามแท่นขุดเจาะแห่งนี้ว่า “โรงแรมฮิลตันลอยน้ำ” ขณะที่ความสามารถในการขุดเจาะ สามารถขุดเจาะน้ำมันได้ที่ระดับความลึกถึง 23,400 ฟุต และเคยสร้างขุดได้ลึกที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ระดับความลึกถึง 35,055 ฟุต

2. ภาพเหตุการณ์จริง

หลังจากปฏิบัติการเกือบ 10 ปี เมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ.2553 แท่นขุดเจาะน้ำมัน Deepwater Horizon ก็เกิดระเบิดขึ้น ขณะกำลังขุดเจาะน้ำมันดินที่ระดับความลึก 1,500 ฟุต ณ บริเวณหลุมเจาะ Maconso และจมลงเมื่อวันที่ 22 เมษายน หรือ 36 ชั่วโมงหลังเกิดระเบิดครั้งแรก เหตุการณ์นี้ทำให้มีผู้เสียชีวิต 11 คน และบาดเจ็บ 17 คน และส่งผลให้น้ำมันดิบรั่วไหลลงทะเลวันละ 12,000 – 100,000 บาร์เรล รวมทั้งสิ้น 4.9 ล้านบาร์เรล ตลอดระยะเวลาการรั่วไหล 87 วัน กระทบพื้นที่ชายฝั่งสำคัญๆ ของสหรัฐฯ นับเป็นเหตุภัยพิบัติที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งของโลก

ผลจากการสืบสวนทางลึกพบว่าสาเหตุสำคัญ อาจเนื่องจากบริษัท BP ต้องการเร่งให้มีการขุดเจาะที่รวดเร็วกว่าเดิม เนื่องจากทาง BP มีค่าใช้จ่ายในการขุดเจาะแต่ละวันค่อนข้างสูง ความโลภนี้ทำให้เกิดเหตุระเบิดตามมา ทั้งที่ระบบรักษาความปลอดภัยของแท่นขุดเจาะจะอยู่ในระดับสูงมากก็ตาม

3. ผลกระทบ

นอกเหนือผลกระทบโดยตรงจากจำนวนผู้เสียชีวิตและความเสียหายของแท่นขุดเจาะที่จมลงทะเลแล้ว เหตุการณ์ระเบิดยังส่งผลกระทบอย่างร้ายแรง สิ่งมีชีวิตได้รับสารพิษและล้มตายเป็จำนวนมาก คราบน้ำมันยังทำให้ออกซิเจนในทะเลลดลง อ่าวเม็กซิโกไม่สามารถใช้จับปลาได้ ธุรกิจประมงและธุรกิจท่องเที่ยวทางทะเลต้องปิดตัวลงหลายแห่ง บางแห่งเจ้าของฆ่าตัวตายเพราะกิจการล้มละลาย

ขณะที่บริษัท BP เองก็เจอกับวิกฤติทางการเงินและความเชื่อมั่นอย่างรุนแรง กำไรที่สะสมมาหมดไปกับอุบัติเหตุครั้งนี้ ราคาหุ้นลดลงกว่าครึ่ง และต้องขายกิจการในหลายๆ ประเทศ องค์การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมยังประกาศห้าม BP ทำสัญญาสัมปทานใหม่กับรัฐบาลสหรัฐฯ ชั่วคราว ขณะที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ได้เรียกร้องให้ BP ชดใช้ค่าเสียหายจากเหตุการณ์ครั้งนี้กว่า 4.525 พันเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ สูงเป็นประวัติการณ์

4. ตัวจริง vs. ตัวแสดง

Deepwater Horizon เป็นหนังที่ดัดแปลงจากเหตุการณ์จริง ดังนั้น ในหนังจริงมีตัวละครหลายคนที่อิงจากบุคคลที่มีตัวตนจริง อาทิ

Mark Wahlberg รับบท Mike Williams หัวหน้าช่าวไฟ ซึ่งถูกเลือกเป็นตัวเอกของเรื่อง เนื่องจากเป็นบุคคลที่สามารถเข้าถึงชีวิตลูกเรือ และได้รับการยกย่องในความพยายามช่วยเหลือผู้อื่นในเหตุการณ์ครั้งนี้

Kate Hudson รับบท Felicia Williams ภรรยาของ Mike ที่ภาวนาอยู่ที่บ้านเพื่อให้สามีเธอกลับมาอย่างปลอดภัย

Kurt Russel รับบท Jimmy Harrell ผู้จัดการนอกชายฝั่ง ถือเป็นหัวหน้าใหญ่ของแท่นขุดเจาะแห่งนี้ และเมื่อเกิดเหตุระเบิด เขาคือคนตัดสินใจสำคัญเพื่อรักษาชีวิตลูกเรือเอาไว้ให้ได้มากที่สุด

Dylan O’Brien รับบท Caleb Holloway หนึ่งในคนงานของแท่นขุดเจาะ

John Malkovich รับบท Donald Vidrine ผู้จัดการประจำฐานเจาะหลุยส์เซียน่าของ BP

Gina Rodriguez รับบท Andrea Fleytas หนึ่งในเจ้าหน้าที่ของแท่นขุดเจาะ ที่มีบทบาทในการแจ้งให้คนงานบนนั้นรู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น

และข้างบนคือภาพเปรียบเทียบตัวจริง (แถวบน) กับตัวแสดง (แถวล่าง) ในภาพยนตร์ Deepwater Horizon

5. Deepwater Horizon’s Final Hours

วัตถุดิบหลักของบทภาพยนตร์ Deepwater Horizon คือบทความของหนังสือพิมพ์ The New York Times เรื่อง “Deepwater Horizon’s Final Hours” หรือชั่วโมงสุดท้ายของ Deepwater Horizon ที่เขียนโดย David Barstow, David Rouhde และ Stephanie Saul ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2553 โดยบทความชิ้นนี้เล่าถึงเหตุการณ์ขณะและหลังเกิดเหตุระเบิดบนแท่นขุดเจาะน้ำมัน จากมุมมองของผู้ประสบเหตุ โดย The New York Times ได้สัมภาษณ์ลูกเรือจำนวน 21 คน ตลอดจนหลักฐานคำให้การณ์ของลูกเรือที่รอดชีวิต และเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง นำมาเรียบเรียงเข้าด้วยกัน เพื่อเล่าถึงชั่วโมงสุดท้ายของแท่นขุดเจาะ Deepwater Horizon แห่งนี้

ความน่าสนใจของบทความนี้ คือนอกจากการให้รายละเอียดเหตุการณ์แล้ว ยังถ่ายทอดอารมณ์ของผู้คนในเหตุการณ์นั้นซึ่งมีทั้งความตื่นตะลึก ความหวาดกลัว ความโคกเศร้า มีทั้งแง่ลบอย่างการคิดแต่จะเอาตัวรอด หรือการไร้ประสิทธิภาพในการตัดสินใจ ไปจนถึงด้านดีๆ น่ายกย่องอย่างความพยายามในการช่วยเหลือเพื่อนร่วมงาน คงเพราะเหตุผลนี้ ทำให้ทีมงานเลือกบทความชิ้นนี้มาเป็นต้นเรื่องของหนัง

ใครที่สนใจอยากอ่านบทความฉบับเต็ม ก็สามารถเข้าไปอ่านกันได้ในเว็บของ The New York Times โดยตรง หรือที่ http://www.nytimes.com/2010/12/26/us/26spill.html?pagewanted=all&_r=0

จุรีพร โนนจุ่น
Latest posts by จุรีพร โนนจุ่น (see all)