[Preview] Shin Godzilla – 62 ปีราชันย์ไคจู จากชุดยางถึง Motion Capture

“Godzilla” กำลังจะกลับมาอีกครั้งใน “Shin Godzilla” หรือ “Godzilla Resurgence” ซึ่งยังถือเป็นการกลับครั้งแรกในรอบ 12 ปีของ Godzilla ฉบับญี่ปุ่น จากเดิมที่เหมือน “โตโฮ” (Toho) ค่ายหนังผู้ปลุกปั้น Godzilla มาตั้งแต่ต้น ดูจะถอดใจและหยุดตำนานฉบับญี่ปุ่นไว้ที่ภาค Final War (2004) แล้ว แต่ความสำเร็จของ Godzilla เวอร์ชั่น Hollywood (2014) ก็จูงใจให้โตโฮลุกขึ้นมาคืนชีพ Godzilla ในแบบตัวเองอีกครั้ง แถมครั้งนี้ยังมาในรูปแบบที่ใหญ่มหึมามากที่สุดเท่าที่เคยมีมา

นอกจากขนาดอันใหญ่โตแล้ว จุดสำคัญที่ทำให้ Shin Godzilla แตกต่างจาก Godzilla ภาคก่อนๆ ของญี่ปุ่น ก็นี่คือภาคแรกที่ใช้เทคนิค Motion Capture เต็มรูปแบบ ตามรอยฉบับ Hollywood หลังจากที่ผ่านมา ฉบับญี่ปุ่นยึดมั่นใน “ชุดยาง” มาโดยตลอด ในที่นี้จึงเป็นโอกาสดีที่จะขอพาย้อนไปยังประวัติศาสตร์เทคนิคการสร้างสรรค์ตัวโกจิระตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

Shin Godzilla (2016)

ยุคโชวะ (1954-1975)

 
แรกเริ่มเดิมทีเมื่อโตโฮมีความคิดจะสร้าง Godzilla นั้น พวกเขาอยากสร้างฉาก Godzilla ด้วยเทคนิค Stop-Motion (ถ่ายภาพนิ่งทีละเฟรมแล้วเอามาต่อกันจนเป็นภาพเคลื่อนไหว) ตามแบบอย่างของหนัง “King Kong” (1933) ที่เป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้เกิด Godzilla ตามมา อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุผลด้านต้นทุนและระยะเวลาการถ่ายทำ โตโฮจึงเปลี่ยนมาใช้เทคนิคให้คนสวมชุด Godzilla ที่ผลิตจากยางลาเท็กซ์แทน บวกด้วยเทคนิคโมเดลจำลองเมือง เพื่อสร้างสรรค์ออกมาเป็นฉาก Godzilla ถล่มเมืองบนแผ่นฟิล์ม

ชุด Godzilla เวอร์ชั่นแรกสร้างโดย Kenji Yagi, Koei Yagi และ Eizo Kaimai โดยมีความสูงประมาณ 2 เมตรกว่า หรือคิดเป็นอัตราส่วน 1/25 จากความสูงในหนัง ซึ่งในภาค 1954 วางไว้ให้สูงที่ 50 เมตร ภายในชุดสร้างโดยไม้ไผ่และลวด คลุมด้วยตะแกรง และสร้างผิวชั้นนอกด้วยกาวลาเท็กซ์ ซึ่งเมื่อสร้างเสร็จปรากฏว่า ชุด Godzilla เวอร์ชั่นแรกมีน้ำหนักกว่า 100 กิโลกรัม แถมยังมีปัญหาเรื่องระบายความร้อน ที่ทำให้การสวมชุด Godzilla แต่ละครั้งเหมือนกับหายนะไม่แพ้ตัว Godzilla เอง

“ฮารุโอะ นากาจิมา” (Haruo Nakajima) ตัวประกอบในหนังของโตโฮหลายเรื่อง ถูกเลือกมาให้เป็นผู้สวมชุด Godzilla ด้วยเหตุผลหลักคือ “ความถึก” และ “ความทน” ของเขา อย่างไรก็ตาม ในการสวมชุดครั้งแรก ฮารุโอะก็ถึงขั้นเป็นลมภายในชุด เพราะหายใจไม่ออกและเคลื่อนไหวลำบาก ทำให้ต่อมาเมื่อถ่ายทำจริงจึงมีการผ่าชุดเป็น 2 ท่อน ท่อนบนใช้ในฉาก Closed-up และฉากในน้ำ ขณะที่ท่อนล่างนำมาปรับปรุงเป็นชุดเต็มตัวใหม่ที่มีน้ำหนักเบาลง เพื่อใช้ถ่ายแบบ Full Body กระนั้น ฮารุโอะ ก็มักจะสวมชุดได้ไม่เกิน 3 นาทีเท่านั้น ส่งผลให้ภาคแรกนั้น จะไม่มีฉาก Long Take ของ Godzilla เกิน 3 นาที

ฮารุโอะ นากาจิม่า ผู้สวมชุด Godzilla คนแรก

ความสำเร็จของ Godzilla ทำให้มีการสร้างภาคต่อมาเรื่อยๆ ซึ่งในภาคต่อๆ มาก็มีการพัฒนาชุดยางให้มีน้ำหนักเบามากขึ้น เคลื่อนไหวได้อย่างสะดวกขึ้น อย่างไรก็ตาม การที่ Godzilla ในช่วงแรกๆ (ประมาณปี 1954-1975 หรือเรียกอย่างลำลองว่า Godzilla ยุคโชวะ) ยังใช้เทคนิคขึ้นรูปชุดยางด้วยมือ “Scaratch-building” นั่นทำให้หน้าตา Godzill แต่ละภาคในช่วงนี้ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอยู่เรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับฝีมือและการตีความของคนทำ

ด้านคนสวมชุดนั้น ฮารุโอะ นากาจิม่า ยังได้รับมอบหมายให้สวมชุด Godzilla อย่างต่อเนื่อง โดยเขาสวมชุดนี้ไป 12 เรื่อง จากหนัง God Zilla 15 เรื่องที่ผลิตในยุคโชวะ แม้ว่าในบางภาคจะมีคนอื่นมาสวมชุดด้วย แต่ฮารุโอะคือคนที่โด่งดังที่สุด และเขาก็ภูมิใจกับบทบาทนี้มาก สำหรับมันไม่ใช่แค่งานสวมชุดยาง แต่คือการแสดงอย่างหนึ่ง ฮารุโอะถึงกับเดินทางไปสวนสัตว์เพื่อศึกษาท่าทางการเคลื่อนไหวของสัตว์นานาชนิด และนำมาพัฒนาเป็นการเคลื่อนไหวของ Godzilla แม้ว่าในภาคแรกเขาและ “คัตสึมี เท็ตสึกะ” อีก 1 คนที่ใส่ชุด Godzilla จะไม่ได้รับเครดิตในฐานะคนสวมชุดก็ตาม เพราะทางโตโฮไม่ต้องการให้รู้ว่ามีคนอยู่ในชุดนั้น

ยุคเฮเซ (1984-1995)

 
หลังจากภาค Terror of Mechagodzilla ในปี 1975 โตโฮก็หยุดสร้าง Godzilla ไปพักใหญ่ เพราะความนิยมในตัวละครนี้เริ่มลดลง จนกระทั่งในปี 1985 ก็เริ่มกลับมาฟื้นคืนชีพให้กับ Godzilla อีกครั้ง โดยที่ภาคที่ถูกสร้างในช่วงปี 1984-1995 ซึ่งมีด้วยกัน 7 ภาค ถูกเรียกอย่างลำลองว่า Godzilla ยุคเฮเซ สำหรับในด้านเทคนิคแล้วในยุคเฮเซ ยังสร้าง Godzilla ด้วยเทคนิคชุดยางเช่นเคย โดย “เคนปาชิโร ซัตสึมะ” (Kenpachiro Satsuma) คนที่สวมชุด Godzilla ในยุคเฮเซทุกภาค แต่นี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่เคนปาชิโรเข้ามาเกี่ยวข้องในโปรเจค Godzilla เพราะเขาเคยสวมชุดเป็นไคจูตัวอื่นๆ ที่ปะทะกับ Godzilla ในภาคท้ายๆ ของยุคโชวะมาแล้ว

เคนปาชิโร ซัตสึมะ ผู้สวมชุด Godzilla ในยุคเฮเซ

แรกเริ่มนั้น เคนปาชิโร่ ดูจะไม่ค่อยพอใจกับการได้มาเป็นนักแสดงสวมชุดยางนัก เพราะแปลว่าจะไม่มีใครได้เห็นหน้าเขา แต่ความชื่นชอบในการเล่น Action ก็ดึงดูดเขาให้เข้ามาในวงการนี้ โดยมีอาจารย์คนสำคัญที่คอยให้คำแนะนำเขานั่นคือ “ฮารุโอะ นากาจิม่า” ผู้สวมชุด Godzilla คนแรก เคนปาชิโรเรียนรู้จากฮารุโอะหลายเรื่อง และเมื่อ Godzilla กลับมาสร้างใหม่ พร้อมข้อเสนอให้เขาสวมชุด เคนปาชิโรก็ไม่พลาดโอกาสนี้ และต้องการมอบการแสดงของ Godzilla ที่แตกต่างไปจากฉบับของฮารุโอะ ด้วยการนำเสนอภาพ Godzilla ในแบบที่ดุดันและโหดร้ายกว่าเดิม

แม้จะยังใช้ชุดยาง แต่ก็มีการพัฒนาชุดให้เคลื่อนไหวได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น (กระนั้นเคนปาชิโรก็ยังน้ำหนักลดไปมากจากการสวมชุด Godzilla) นอกจากนี้ ชุดยางในยุคเฮเซยังผลิตโดยใช้เทคนิคขึ้นรูปด้วยแม่พิมพ์ (Mold) ทำให้หน้าตาของ Godzilla ในยุคนี้ไม่ค่อยเปลี่ยนไปในแต่ละภาคเท่าไหร่นัก ความต่อเนื่องทางรูปลักษณ์นี้ยังทำให้กลายเป็นภาพจำของคน เมื่อเอ่ยถึง Godzilla อีกด้วย

เทคนิคสำคัญที่ถูกนำมาใช้ในยุคนี้ก็คือ “หุ่นบังคับ” ซึ่งโตโฮได้แรงบันดาลใจจาก King Kong เวอร์ชั่น 1976 ที่ได้สร้างหุ่นลิงยักษ์เพื่อใช้ในการถ่ายทำ (จะเห็นได้ว่า King Kong มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ Godzilla เสมอมา) โดยโตโฮได้สร้าง “Cybot” หุ่นส่วนหัวของ Godzilla เคลื่อนไหวได้ด้วยระบบไฮดรอลิก ที่ควบคุมโดยระบบคอมพิวเตอร์ขึ้นมา สำหรับถ่ายในฉาก Close-up โดยเฉพาะ ซึ่งระบบต่างๆ ที่วางไว้ ยังทำให้ Godzilla ยุคนี้สามารถเคลื่อนไหวใบหน้าได้อย่างสมจริงและแสดงอารมณ์ได้มากยิ่งขึ้น

สภาพ Cybox หุ่นบังคับที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ถ่าย Godzilla ก่อนมีการเติมผิวเข้าไปภายหลัง

ความก้าวหน้าด้าน CG ยังทำให้ Godzilla มีการใส่เทคนิค CG เข้าไป โดยเฉพาะการปล่อยพลังต่างๆ สร้างความตื่นตาตื่นใจขึ้นไปอีก กระนั้น โดยรวมแล้วญี่ปุ่นยังคงยึดมั่นกับชุดยางเป็นหลัก เพราะถือว่าเป็นหนทางที่ทำให้ Godzilla ดูมีชีวิตและจิตวิญญาณได้มากที่สุด Godzilla ยุคเฮเซสิ้นสุดลงที่ภาค “Godzilla vs. Destoroyah” ในปี 1995 ก่อนส่งไม้ต่อให้ “Godzilla” เวอร์ชั่นปี 1998 ของ Hollywood ซึ่งเป็นภาคที่เลือกสร้างด้วย CGI เป็นหลัก ผสมด้วยการสร้างหุ่นบังคับเพื่อใช้ถ่ายฉาก Closed-up และการสวมชุดยางในบางฉาก (สวมชุด Kurt Carley) แต่แล้วผลตอบรับของ Godzilla เวอร์ชั่น 1998 ก็ออกมาไม่ดีนัก โดยเฉพาะกับเคนปาชิโร ซัตซึมะ อดีตผู้สวมชุด Godzilla ที่ถึงกับเดินออกจากโรงกลางคัน พร้อมให้สัมภาษณ์ว่า “มันไม่มีจิตวิญญาณ Godzilla เอาเสียเลย”

Kurt Carley ผู้สวมชุด Godzilla ในบางฉากของเวอร์ชั่น 1998

ยุคมิลเลเนียม (1999-2004)

 
หลังจาก Godzilla ฉบับ Hollywood ค่อนข้างทำมาได้อย่างเสียของ โตโฮก็กลับมาสร้าง Godzilla ในแบบฉบับของตัวเองอีกครั้ง พร้อมด้วยการตัด Godzilla 1997 ออกจากสารบบ และเรียกชื่อมันว่า “Zilla” แทน ในยุคนี้ โตโฮได้ผลิต Godzilla ใออกมาด้วยกันทั้งหมด 6 ภาค เทคนิคการสร้างสรรค์ตัว Godzilla หลักๆ ยังเป็นการสวมชุดยาง ซึ่งมี “ซึโตมุ คิตากาวะ” (Tsutomu Kitagawa) เป็นตัวหลักในการสวมชุด (เขาสวมชุด Godzilla 5 ใน 6 ภาคของยุคมิลเลเนียม) โดยมีการพัฒนาชุดให้มีน้ำหนักเบาขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะในภาคสุดท้ายของยุค Godzilla: Final Wars (2004) ที่เบาขึ้นมาก (แต่ก็ยังหนักสำหรับคนทั่วไป) จนซึโตมุที่เคยบ่นเรื่องน้ำหนักชุดเมื่อใส่ตอนแรกๆ ถึงกับบอกว่า ชุดใน Final Wars นั้นเหมือนกับแค่การแบกเด็กไว้บนหลัง

ซึโตมุ คิตากาวะ ผู้สวมชุด Godzilla ในยุคมิลเลเนียม

 
โดยรวมแล้ว Godzilla ในยุคมิลเลเนียมยังยึดประเพณีดั้งเดิม นั้นการคือใช้ชุดยางเป็นหลัก แต่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและความนิยมใน CGI ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้หนังนำ CGI เข้ามาประกอบเป็นจำนวนมาก ในฉากต่างๆ (แม้จะดูไม่ค่อยเนียนก็ตาม) รวมไปถึงฉาก Godzilla บางฉาก เช่น Godzilla ว่ายน้ำ ก็เริ่มมีการสร้างโดยใช้ CGI ทั้งตัวแล้วด้วย กระนั้น การยึดมั่นในชุดยางก็ปรากฎให้เห็นชัดใน Godzilla: Final Wars (2004) ที่มีการปะทะกันระหว่าง Godzilla ชุดยาง กับ Zilla (Godzilla 1998 ของ Hollywood) ที่สร้างโดย CG ผลปรากฏว่า Godzilla ตบ Zilla ลงไปแดดิ้นด้วยกระบวนท่าเดียว

Godzilla 2000 เริ่มมีบางฉากที่สร้าง Godzilla ด้วย CGI

Shin Godzilla

 
เมื่อจบ Godzilla: Final Wars ทางโตโฮก็ประกาศหยุดสร้าง Godzilla ไปพักหนึ่ง จนกระทั่งปี 2014 ทาง Hollywood ก็ได้สร้าง Godzilla ฉบับใหม่ขึ้นมา โดยใช้เทคนิค Motion Capture (จับท่าทางของคนแล้วนำไปสร้างเป็น CG) เพื่อให้ได้ Godzilla ที่ดูทันสมัย สามารถกำหนดรายละเอียดต่างๆ ได้เต็มที แต่ก็ขณะเดียวก็ยังดูมีจิตวิญญาณอยู่ เพราะแสดงโดยคน ซึ่งคนที่มารับหน้าที่เป็นแบบ Motion Capture ก็คือ “T.J Storm” โดยมี “Andy Serkis” หนึ่งในปรมาจารย์ด้าน Motion Capture เป็นที่ปรึกษาสำคัญของหนังเรื่องนี้

TJ Storm ผู้เป็นแบบ Motion Capture ให้ Godzilla 2014

ความสำเร็จของ Godzilla 2014 ทำให้โตโฮคิดว่าเราก็น่าจะกลับมาทำ Godzilla ในแบบฉบับของตัวเองอีกครั้งได้ จนผลิตออกผลมาเป็น “Shin Godzilla” ถือเป็นการปฏิวัติการสร้างหนัง Godzilla ฉบับญี่ปุ่น เพราะในภาคนี้ โตโฮเลือกใช้เทคนิค Motion Capture ตามแบบ Godzilla 2014 แทนที่การใช้หุ่นยางแบบเดิม เนื่องจากต้องการนำเสนอ Godzilla ในรูปลักษณ์ใหม่ สามารถแสดงวิวัฒนาการของตัว Godzilla และความทันสมัยของ CGI ปัจจุบัน ก็ทำให้สามารถสร้างสิ่งเหล่านั้นได้อย่างสมจริง โดยคนที่รับหน้าที่มาเป็นแบบ Motion Capture ให้ Godzilla ภาคนี้ก็คือ “มันไซ โนมูระ” (Mansai Nomura)

มันไซ โนมูระ ผู้เป็นแบบ Motion Capture ให้ Shin Godzilla

อย่างไรก็ตาม ไม่รู้เพราะ CGI ดูเนียนเกินไป หรือเป็นความตั้งใจของคนสร้างที่ไม่เน้นแสดงการเคลื่อนไหวหรือแสดงอารมณ์ของ Godzilla ภาคนี้มากนัก ทำให้หลายคนยังคงเข้าใจนี่ยังเป็นการสวมชุดยางอยู่

Godzilla ที่สร้างโดย Motion Capture ตัวแรกของญี่ปุ่น จะออกมาเป็นยังไง จะสมจริงสู้ฉบับ Hollywood ได้หรือไม่ หรือยังคงจิตวิญญาณแบบสมัยชุดยางได้หรือเปล่า และจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางครั้งใหญ่ของโกจิระได้หรือไม่ ก็คงต้องรอดูใน Shin Godzilla เอาละ
 

เบื้องหลัง CG ใน Shin Godzilla

อ้างอิง

 
Steve Ryfle. (2000). Japan’s Favorite Mon-Star: The Unauthorized Biography of “The Big G”. ECW Press.

Starpics. (2557). Godzilla the Legend of King. กรุงเทพฯ: สตาร์พิคส์.

GODZILLA SUITS : ชุดก๊อตซิลล่ากับประติมานวิทยาของราชาสัตว์ประหลาด
https://monsterarchaeologist.wordpress.com/2014/05/14/godzilla-suits-%E0%B8%8A%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B9%8A%E0%B8%AD%E0%B8%95%E0%B8%8B%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%95/

Godzilla (franchise)
https://en.wikipedia.org/wiki/Godzilla_(franchise)

Meet Godzilla Resurgence’s Motion Capture Actor
http://kotaku.com/meet-godzilla-resurgences-motion-capture-actor-1784640157

Meet the actor who gives life to Godzilla, who spoke to crhoy.com
http://www.crhoy.com/conozca-al-actor-que-da-vida-a-godzilla-quien-hablo-con-crhoy-com-v2k0k2x/

Share

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

จุรีพร โนนจุ่น
Latest posts by จุรีพร โนนจุ่น (see all)