[Criticism] ดาวคะนอง – ประวัติศาสตร์ของเราไม่เหมือนกัน (Spoil)

คำเตือน: กรุณาพักผ่อนให้เพียงพอก่อนดูหนังเรื่องนี้
สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจก่อนคือ “ดาวคะนอง” (By The Time It Gets Dark) เป็น “หนังนอกกระแส” (หรือหนังอินดี้ หนังทางเลือก ตามแต่จะเรียก) เหตุที่ต้องเริ่มเช่นนี้ ก็เพื่อให้เราเข้าใจ เตรียมใจ หรือเผื่อใจไว้ก่อนว่า ตัวหนังอาจไม่ได้เล่าในแบบที่เราคุ้นชิน อาจย่อยยาก หรือชวนหลับได้ และเช่นเดียวกับหนังนอกกระแสไทยส่วนใหญ่ นั่นคือมักจะมาพร้อมกับการเล่าเรื่องที่ไม่ปะติดปะต่อ เน้นความเงียบ มักมีเรื่องราวของสังคมหรือการเมืองเป็นฉากหลัง และแม้ตัวหนังเหล่านี้มักมีวัตถุประสงค์วิพากษ์สังคมและการเมือง แต่จะไม่กล่าวออกมาโดยตรง หากแต่มักกล่าวอ้อมๆ (ถึงอ้อมมาก) ให้คนดูจินตนาการเชื่อมต่อกันเอง

ถ้าใครเคยดูพวกภวังค์รัก, Sway, หรือหนังของเจ้ย ก็อาจพอคุ้นชินกับสไตล์นี้บ้าง (ว่าไปในความนอกกระแสมันก็มีกระแสความเหมือนๆ กันอยู่แฮะ) ใครที่ชอบสไตล์แบบนี้หรืออยากฝึกจินตนาการการใช้ความคิดก็คงดื่มด่ำไปกับ “ดาวคะนอง” ได้ แต่ถ้าไม่ ตัวหนังก็อาจกลายเป็นยานอนหลับชั้นดีได้เช่นกัน เพราะนี่อาจไม่ใช่แค่หนังที่ปีนบันไดดู หากแต่อาจต้องเรียกลิฟท์พาไปส่งเลยทีเดียว

“ดาวคะนอง” เล่าเรื่องราวของหลากชีวิต ครึ่งแรกจะเน้นไปที่ “ผู้กำกับหญิง” ที่ต้องการทำหนังชีวประวัติของ “นักเขียนหญิงรุ่นใหญ่” ที่มีอดีตเป็นผู้นำนักศึกษาในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 (คาดว่าคงได้แรงบันดาลใจจากจีระนันต์ พิตรปรีชา) ขณะที่ครึ่งหลังเน้นไปที่นักแสดงชายหญิงคู่หนึ่ง แถมยังมีเส้นเรื่องของสาววัยรุ่นที่เปลี่ยนงานไปเรื่อยๆ จากสาวเสิร์ฟร้านอาหารที่ผู้กำกับหญิงไปพัก ไปจนถึงแม่บ้านในคอนโดของนักแสดงชาย สอดแทรกมาตลอดทั้งเรื่อง นอกจากนี้ ยังมีเรื่องราวที่ชวนให้เราคิดว่าเป็น Flashback ของนักเขียนหญิงสมัย 6 ตุลา 19 หรือจะเป็นส่วนที่ดูจะเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติก็มีแทรกเข้ามาเป็นระยะๆ และด้วยความที่ตัวหนังไม่ได้มีการแบ่ง Part อย่างชัดเจน และในช่วงหลังยังมีการเล่าเรื่องแบบหนังซ้อนหนังเข้ามา ทำให้มันเกิดความพร่าเลือน สับสนว่า เรื่องไหนในหนังที่เป็นเรื่องจริง หรือเป็นเพียงการแสดงหนังซ้อนหนังกันแน่ ไม่แปลกที่เราอาจจะงงหรือรู้สึกต่อไม่ติดกับหนัง

เนื่องจากตัวหนังไม่ได้ระบุเป้าหมายของเรื่องอย่างชัดเจน ในแง่หนึ่งมันเลยค่อนข้างท้าทายความคิดถึงข้อความที่ซ่อนอยู่ในหนัง โดยแต่ละคนอาจมีการตีความแตกต่างกันออกไปได้ และนี่เป็นการตีความตามความคิดของผมนะครับ ซึ่งส่วนตัวแล้วมองว่า “ดาวคะนอง” คือหนังที่พยายามพูดถึงเรื่อง “ความทรงจำต่อประวัติศาสตร์” ที่แต่ละคนอาจมีไม่เหมือนกัน

หนังเลือกพูดถึงเหตุการณ์ “6 ตุลา 2519” อย่างมีนัยสำคัญหลายต่อหลายครั้งในเรื่อง นั่นก็เพราะ 6 ตุลา คือหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทยที่มีัปัญหาในเรื่องการจดจำมากที่สุด บางส่วนไม่อยากจดจำว่ามีเหตุการณ์แบบนี้ ขณะที่กลุ่มที่จดจำก็มี “Filter” สำหรับใช้อธิบายเหตุการณ์นี้แตกต่างกันออกไป รัฐอาจบอกว่าเป็นปัญหาของกลุ่มนักศึกษาที่ใช้สิทธิมากเกินไปจนสร้างความไม่พอใจให้กลุ่มอื่น ขณะที่นักศึกษาพวกเขาต่อสู้เพื่อสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อประชาธิปไตย ประเด็นคือทุกคนต่างก็มี Filter ส่วนตัวที่ทำให้เลือกมองภาพแบบที่ตัวเองอยากเห็น จนบางทีเราก็ไม่แน่ใจว่าแล้วภาพจริงๆ มันคืออะไรกันแน่

นักเขียนหญิงรุ่นใหญ่ เล่าถึงเหตุผลในการมาเป็นผู้นำนักศึกษาว่าเป็นเพราะทนไม่ได้ที่เห็นความอยุติธรรม แต่ในข้อความระหว่างบรรทัดการสัมภาษณ์ระหว่างเธอกับผู้กำกับหญิงนั้น ก็ทำให้เราพอทราบว่า มันอาจมีปัจจัยเรื่องครอบครัว ซึ่งการที่เธอถูกเลี้ยงดูอย่างทนุถนอมจากครอบครัวที่มีพ่อเป็นทหาร อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เธออยากแสดงออกต่อต้านความอยุติธรรมมากขึ้น เพื่อเรียกการยอมรับจากคนอื่นในมหาลัย หรือมันมีอาจปัจจัยเรื่องความรักกับเพื่อนนักศึกษาที่เป็นแกนนำนักศึกษา ที่อาจทำให้เธอตัดสินใจง่ายขึ้นในการออกไปต่อสู้ หรือเข้าป่าหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า สิ่งที่นักเขียนหญิงคนนั้นบอกว่าตนเข้าร่วมต่อสู้เพื่อความถูกต้องนั้นเป็นสิ่งโกหก เธออาจพูดความจริง เพียงแต่เธออาจลดทอนเหตุผลอื่นๆ ลงไปให้เหลือแค่เหตุผลนี้ การใส่ Filter ให้กับประวัติศาสตร์ ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นการเปลี่ยนประวัติศาสตร์จากหน้ามือให้กลายเป็นหลังมือ มันอาจเป็น Filter เล็กๆ ที่เราใส่ลง แต่แค่นั้นก็เพียงพอที่จะทำให้เราแต่ละคนมีความทรงจำและทัศนคติต่อเหตุการณ์ต่างๆ ไม่เหมือนกัน

เช่นเดียวกันในกรณีผู้กำกับหญิง ที่อยากทำหนังจากเรื่องราวของนักเขียนหญิง ในช่วงท้ายครึ่งแรกของเรื่อง เราได้เห็นว่าเธอมานั่งหน้ากล้องแล้วร่ายยาวถึงชีวิตวัยเด็ก ที่เธอเคยฝึกฝนโทรจิตจนสามารถเคลื่อนย้ายสิ่งของได้ แต่วันถัดมาเธอกลับทำไม่ได้อีกเลย ฟังดูอาจเป็นเรื่องไร้สาระ และน่าจะเป็นความเพ้อฝันในวัยเด็กมากกว่า แต่ถ้าเธอเกิดมีความสามารถโทรจิตขึ้นมาจริงๆ ละ รวมไปถึงความสามารถในการเห็นอะไรแปลกๆ ด้วย ที่หนังก็มีใส่มาให้เห็น ถ้าความจริงเธอมีพลังพิเศษ แต่เธอใส่ Filter ทำให้ตัวเองเชื่อว่าไม่มีพลังพิเศษ จนไม่สามารถใช้พลังพิเศษได้อีกต่อไป ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการที่เธอเล่าเรื่องโทรจิตให้เพื่อนสนิทฟัง แล้วคงโดนหัวเราะเยาะ (อย่างหลังนี่ไม่ใส่มาในหนังโดยตรง) นั่นเป็นประเด็นให้เราขบคิดว่า แม้แต่เหตุการณ์ที่เราไปประสบพบเจอด้วยตัวเอง เราอาจจดจำมันอีกแบบที่ต่างออกไปจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ก็ได้ และคนรอบข้าง สังคม มีอิทธิพลว่าเราจะมองประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นแบบไหน

เข้าใจว่าช่วงครึ่งหลังของเรื่อง ที่เน้นไปที่เรื่องราวของนักแสดงชายหญิงที่นำแสดงโดย เป้ อารักษ์ กับ สายป่าน อภิญญา คือการเน้นย้ำสิ่งที่ดาวคะนองต้องการนำเสนอตั้งแต่ต้นเรื่องให้เด่นขึ้น ใน Part ของเป้และสายป่านนั้น มีการตัดสลับหลากหลายเหตุการณ์ของทั้ง 2 คนมาไว้ด้วยกัน จนบางทีเราไม่แน่ใจว่าอันไหนคือความจริง หรืออันไหนเป็นเพียงฉากหนึ่งในหนังที่ทั้ง 2 แสดงเท่านั้น (แต่จริงๆ ก็พอแยกได้) หนังยังมีฉากเบื้องหลังการถ่ายทำ ที่ทำให้เราเห็นว่ากว่าจะมาเป็นเบื้องหน้าที่เราเห็นกันนั้น มันผ่านการปรุงแต่งมามากแค่ไหน ไม่ต่างจากประวัติศาสตร์ที่เรารับรู้ นั้นผ่านการปรุงแต่งมาแล้วเสมอ ทั้งจากคนอื่น สังคม หรือแม้แต่ตัวเราเองก็มีส่วนปรุงแต่งประวัติศาสตร์นั้นเช่นกัน

ฉากของทราย เจริญปุระ กับต่าย เพ็ญพักตร์ น่าจะเป็นตัวอย่างของการปรุงแต่งความจริงได้ดีที่สุดในเรื่อง เพราะมันคือการฉายซ้ำเรื่องราวของผู้กำกับหญิงกับนักเขียนหญิงรุ่นใหญ่ตอนต้นเรื่อง บทพูดแบบเดิม สถานที่เดิม แต่เปลี่ยนคนแสดงให้เป็นดาราที่มีชื่อเสียง แต่งหน้าจัดเต็ม สถานที่ที่จากเดิมมีแต่บ้านโล่งๆ เก่าๆ ก็ตกแต่งไม่ต่างรีสอร์ทสุดสาย ทุกอย่างดูดีขึ้นทันที ความรู้สึกเปลี่ยนไป ทั้งๆ ที่ก็เนื้อหาเหมือนเดิม

ท่ามกลางประเด็นประวัติศาสตร์ปรุงแต่ง คำถามหลักคงเป็นแล้วมีอะไรที่จริงบ้าง นั่นอาจเป็นเหตุผลให้ดาวคะนองใส่เรื่องราวของ หญิงสาววัยรุ่นคนหนึ่งเข้ามา เธอแทบไม่พูดอะไร แต่เราจะเห็นเธอเปลี่ยนงานไปเรื่อยๆ จากพนักงานในรีสอร์ท มาเป็นแม่บ้าน เด็กเสิร์ฟ เข้าผับ จนกระทั่งบวชชี มันเหมือนกับว่าในขณะที่เราต่างถกเถียงว่าอะไรคือประวัติศาสตร์ที่จริงแท้กันแน่ สาววัยรุ่นคนนี้เลือกจะใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบัน ปัจจุบันที่เธอต้องดิ้นรนทำงานหาเลี้ยงชีวิตไปเรื่อยๆ

ฉากท้ายๆ เรื่องที่เธอจ้องมองโดมธรรมศาสตร์ จากเรือที่กำลังล่องบนแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เธอเป็นเด็กเสิร์ฟอยู่ เธอคิดอะไร ถ้าเป็นคนอื่นคงเชื่อมโยงไปถึงประวัติศาสตร์การต่อสู้เดินตุลา แต่เอาเข้าจริงสิ่งที่เธอคิดอาจจะแค่ “เมื่อไหร่งานกรุจะเสร็จ” แค่นั้นก็เป็นได้

“ดาวคะนอง” เป็นหนังที่ค่อนข้างท้าทายความคิดคนดู แต่ในขณะเดียวกันก็ท้าทายความง่วงด้วยเช่นกัน ซึ่งบางทีเราไม่ก็ไม่เข้าใจว่าหนังจำเป็นต้องเล่นท่ายากขนาดนั้นมั้ย แล้วหนังอินดี้ไทยดันเป็นแบบนี้ซะเยอะด้วยสิ การเล่าเรื่องแบบให้คนดูไปจินตนาการเอง (โคตรๆ) แบบนี้มันก็มีทั้งข้อดีข้อเสีย ข้อดีคือมันอาจสนุกกับการได้ขบคิด ข้อเสียคือยิ่งเล่นท่ายากเท่าไหร่ คือมันก็จะยิ่งกันคนอีกกลุ่ม (ที่น่าจะเป็นกลุ่มใหญ่) ให้ถอยห่างไป สุดท้ายแม้ Message ของเรื่องจะดีแค่ไหน แต่ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้

ว่าไปวงการหนังไทยเรานี่มีความสุดขั้วมากเกินไป คือในขณะที่เรามีหนังตลาดจ๋ามาก แทบไม่ต้องคิดอะไรตอนดู ขณะเดียวกันเราก็มีหนังโคตรอินดี้ ที่ต้องปีนบันได กดลิฟท์ดูไม่น้อยไปกว่ากัน สิ่งที่บ้านเราขาดคือหนังที่อยู่ตรงกลางๆ ที่ผสมผลานทั้งประเด็นและการเดินเรื่องที่สนุกน่าสนใจเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งดูเหมือนจะยังมีน้อยเกินไป

จุรีพร โนนจุ่น
Latest posts by จุรีพร โนนจุ่น (see all)