[กรุหนังเก่า] All Quiet on the Western Front (1930) – แนวรบด้านตะวันตก เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง

“All Quiet on the Western Front” เริ่มต้นจากการเป็นนิยายผลงานของ “Erich Maria Remarque” อดีตทหารเยอรมัน ที่ได้แรงบันดาลใจจากเมื่อครั้งที่เขาได้ร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งเขาถูกส่งไปอยู่แนวรบด้านตะวันตก (Western Fornt) ซึ่งเป็นแนวรบเยอรมันกับฝั่งฝรั่งเศส/อังกฤษ ตัวนิยายประสบความสำเร็จและได้คำชื่นชมอย่างมาก เพราะถ่ายทอดความโหดร้ายของสงครามได้อย่างสมจริง ในไทยเองมีฉบับแปลไทยของนิยายเล่มนี้ในชื่อว่า “แนวรบด้านตะวันตก เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง”

ปี 1930 นิยายเรื่องดังกล่าวถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ครั้งแรกโดย “Lewis Milestone” และประสบความสำเร็จสามารถคว้ารางวัล Oscar สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในปีนั้นไปครองได้ โดยยังถือเป็นภาพยนตร์พูดที่ไม่ใช่ Musical เรื่องแรกที่คว้ารางวัลนี้ได้

แม้จะเป็นภาพยนตร์ขาวดำในยุคเกือบ 90 ปีที่แล้ว Effect อะไรต่างๆ คงสู้ปัจจุบันไม่ได้ แต่ตัวหนังก็ยังคงให้ความรู้สึก Epic มากแม้จะดูในยุคปัจจุบัน และที่โดดเด่นเหนือกาลเวลาก็คือ Message ของหนัง ที่เข้าใจถึงความโหดร้ายของสงคราม เมื่อทหารเป็นเพียงเบี้ยให้ผู้นำประกาศความยิ่งใหญ่ สภาพความเป็นจริงโดยเฉพาะแนวหน้า ไม่มีอะไรสวยหรูหรือน่าภาคภูมิใจแบบที่พวกผู้นำหรือคนปลุกระดมพูดกัน

ตัวเอกของเรื่องคือ “Paul” ซึ่งและเพื่อนๆ ของเขาเข้าร่วมเป็นทหารอาสาเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ 1 เพราะคำพูดปลุกใจของครูในโรงเรียน ที่บอกว่านี่คือโอกาสทำเพื่อแผ่นดินเกิด และถือเป็นความภาคภูมิใจในชีวิต รวมถึงยังทำให้พวกเขาเชื่อว่าจะกลับมาอย่างวีรบุรุษ และเยอรมนีจะได้รับชัยชนะในที่สุด แต่สิ่งที่ Paul เจอจริงๆ ในแนวหน้า กลับไม่มีอะไรใกล้เคียงกับชัยชนะ พวกทหารแนวหน้าต่างอยู่กันอย่างอดๆ อยากๆ ในสนามเพลาะ Paul เริ่มเสียเพื่อนไปทีละคนๆ ในสงครามที่เขาก็เริ่มไม่แน่ใจว่าใครเริ่มก่อน และรบไปเพื่ออะไร และยิ่งเจ็บปวดมากขึ้นเมื่อ Paul กลับมาบ้าน และบอกเล่าความโหดร้ายที่เผชิญให้คนอื่นฟัง พวกเขาเหล่านั้นกลับหาว่า Paul เป็นคนขี้ขลาด ครูที่โรงเรียนก็ยังคงปลุกระดมเด็กให้ไปรบ ขณะที่คนอื่นๆ ต่างก็ยังเชื่อมั่นในว่าเยอรมันจะได้ชัยชนะ และทหารมีความเป็นอยู่ที่ดี ภายใต้การสนับสนุนจากพวกเขา

ที่น่าเสียดายคือ แม้ All Quiet on the Western Front จะเตือนเราให้เห็นถึงภัยของชาตินิยมสุดขั้วที่นำไปสู่การก่อสงครามากเพียงไร แต่ 9 ปีหลังจากภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉาย โลกก็เข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 จากเยอรมันเช่นเคย และสงครามครั้งนี้รุนแรงและสร้างความเสียหายมากกว่าสงครามโลกครั้งที่ 1 หลายเท่านัก และแม้สงครามโลกครั้งที่ 2 จะจบลงไปแล้ว แต่จนถึงปัจจุบันเราก็ยังเห็นความคลั่งชาติ หลอกคนให้ไปตายแทนอยู่เรื่อยมา เหมือนไม่ได้เรียนรู้บทเรียนจากอดีตเลย

ความน่าสนใจอีกอย่างของ All Quiet on the Western Front คือมันเป็นหนังไม่กี่เรื่องที่มองสงครามโลกในมุมของผู้กระทำ นั่นคือในมุมเยอรมัน มุมที่มองเขาว่าก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกัน เพราะนับตั้งแต่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 หนังสงครามส่วนใหญ่ก็พร้อมใจกันมอบบทผู้ร้ายให้กับผู้แพ้ทางประวัติศาสตร์ โดยไม่ค่อยได้ตั้งคำถามเท่าไหร่ ว่าทำไมพวกเขาจึงคิดจึงกระทำเช่นนั้น อาจเพราะก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 อเมริกายังมองตัวเองเป็นคนนอกอยู่ จึงเปดให้มีหนังที่เยอรมันเป็นตัวเด่นได้ ถ้าจะมีหนังเรื่องไหนที่ Message ใกล้เคียงกับ All Quiet on the Western Front ก็คงเป็น Letter from Iwo Jima (2006) ที่มองสงครามโลกครั้งที่ 2 ในมุมของญี่ปุ่น และต้องการแสดงภาพความโหดร้ายของสงครามที่ทำร้ายทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำพอๆ กัน

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เป็นหนังเก่ามาก ดังนั้น อย่าไปคาดหวังว่า Special Effect จะดูดีอะไรมากมาย (แต่มันก็โครตดีในยุคนั้นแหละ) อีกอย่างหนังเรื่องนี้ เป็นยุคแรกๆ ของหนังพูดที่ไม่ใช่ Musical ความลื่นไหลจึงยังอาจไม่ลงตัวเท่าไหร่ เมื่อมองจากมุมปัจจุบัน แถมการแสดงก็ยังออก Over-Acting แบบสมัยก่อนอยู่ ซึ่งถ้าใครอยากดูหนังสงครามแบบที่มีรสชาติใกล้เคียงปัจจุบันมากขึ้น แนะนำเวอร์ชั่น 1979 ที่เป็นเวอร์ชั่นภาพยนตร์โทรทัศน์ดีกว่า (ผมรู้จัก All Quiet on the Western Front ครั้งแรกก็จากเวอร์ชั่นนี้แหละ) แต่ถ้าอยากสัมผัสความคลาสสิกก็จัด 1930 ไป

Previous article[Review] Deepwater Horizon – ความหวังไม่ใช่กลยุทธ์ที่ดี
Next article[Review] Miss Peregrine’s Home for Peculiar Children – ประหลาด…ฉันว่ามันประหลาด

จุรีพร โนนจุ่น
Latest posts by จุรีพร โนนจุ่น (see all)