5 Steps to Tyranny: ปลุกด้านมืดในตัวคุณ

ประมาณ 2 ปีก่อน ผมเขียนกระทู้ในห้องหว้ากอของ Pantip กระทู้หนึ่งเนื้อหาเกี่ยวกับสารคดีที่ชื่อว่า “5 Steps to Tyranny” ซึ่งเป็นสารคดีที่ผมมีโอกาสได้รู้จักตั้งแต่สมัยเรียน และเห็นว่าเนื้อหาสารคดีนั้นสามารถอธิบายอะไรหลายๆ อย่างให้เราเข้าใจอย่างแจ่งแจ้ง

น่าเสียดายที่กระทู้นั้นคงอยู่ไม่นานนักเพราะเกิดดราม่าในกระทู้เสียก่อน แต่ผมก็ยังเก็บเนื้อหานั้นไว้ใน Blog เก่าของผมอยู่ มาวันนี้สถานการณ์รอบตัวเราก็เหมือนจะไม่ได้เปลี่ยนไปนัก และ “5 Steps to Tyranny” ก็ยังอธิบายเรื่องเหล่านั้นได้ดีอยู่ จึงขอหยิบเนื้อหาจาก Blog อันเก่า มาเล่าใหม่อีกครั้งใน Blog ปัจจุบันของผม

 
“ถ้ามีคนบอกให้คุณไปทำร้ายหรือฆ่าคนอื่น คุณจะทำหรือป่าว?”

 
หากเจอคำถามนี้เราคงตอบทันทีว่า “ไม่ ฉันจะไม่มีทางทำอย่างนั้นเด็ดขาด” เพราะ จิตสำนึกของเราคอยเตือนเราว่าการทำร้ายหรือฆ่าคนอื่นเป็นสิ่งที่ผิด และเรามั่นใจว่าจะไม่มีวันทำสิ่งนั้นเป็นอันขาด ไม่ว่ากับใคร ที่ไหน หรือเมื่อไหร่

แต่พวกเราทุกคนอาจคิดผิด!!!

มี ตัวอย่างมากมายที่แสดงให้เห็นว่า คนเราสามารถกระทำเรื่องเลวร้ายต่างๆ ได้มากมาย แม้ว่าเขาจะไม่เคยมีวี่แววว่าเป็นคนเลวร้ายมาก่อนเลย เราเองก็เช่นกันหลายครั้งก็อาจทำเรื่องที่ขัดกับจิตสำนึกของเราได้โดยไม่รู้ ตัว ถ้าบริบทแวดล้อมเหมาะสม แม้แต่คนที่ได้ชื่อว่าดีที่หนึ่งก็สามารถกลายเป็นคนเลวสามานย์ได้ หรือว่าจริงๆ แล้วความดี-ความชั่วอาจไม่ใช่สิ่งที่ติดตัวเรามาแต่กำเนิด แต่เป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์รอบตัวเรา “5 Steps to Tyranny” ซึ่งเป็นสารคดีที่ผลิตโดย BBC และเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 2001 ได้พยายามหาคำตอบนี้ แต่สิ่งที่ค้นพบกลับสร้างความตกตะลึง เมื่อพบว่า เพียงแค่ 5 ขั้นตอนสั้นๆ ง่ายๆ จากคนธรรมดาก็สามารถกลายเป็นทรราชย์ได้อย่างสมบูรณ์

ความน่าสนใจของสารคดีชิ้นนี้ อยู่ที่การนำการทดลองทางจิตวิทยาต่างๆ มาเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่าเราสามารถกลายเป็นทรราชย์ได้อย่างไร ทำให้แม้ว่าตัวสารคดีจะผ่านมาเป็น 10 กว่า ปีแล้ว แต่ก็ยังทันสมัยและมีประโยชน์อยู่เสมอ และทำให้เรานึกหวั่นใจตัวเองอยู่ตลอดว่าสักวันเราอาจกลายเป็นทรราชย์อย่างในสารคดีจริงๆ ก็ได้

สำหรับผมรู้จักสารคดีชิ้นนี้ครั้งแรกก็เมื่อสมัย ป.ตรี ปี 4 ตอนเรียนวิชาความรุนแรงและสันติวิธีทางการเมืองในมหาวิทยาลัย อาจารย์ได้นำสารคดีชิ้นนี้มาฉายเพื่อแสดงให้เห็นว่า หากไม่ระวังคนเราก็พร้อมกระทำรุนแรงต่อกันได้เสมอ ส่วนตัวประทับใจสารคดีชิ้นนี้มาก และคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับทุกคน โดยเฉพาะในแง่มุมจิตวิทยา ซึ่งสังคมศาสตร์ที่เกี่ยวพันกับวิทยาศาสตร์ค่อนข้างมาก และน่าจะตั้งในหว้ากอได้ ตัวสารคดีมีความยาวประมาณ 1 ชั่วโมง ผมจะเสนอตามลำดับ Step โดยในแต่ละ Step ก็จะแทรกข้อมูลเกี่ยวกับการทดลองจิตวิทยาที่นำมาอ้างอิงในแต่ละ Step ด้วย

Step 1 – “Us” and “Them” – “พวกเรา” และ “พวกเขา”

ขั้นแรกสู่การเป็นทรราชย์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นง่ายๆ ในทุกๆ วันก็คือ การสร้างความแตกต่างระหว่าง “พวกเรา” และ“พวกเขา” ให้เกิดขึ้น โดยที่ทำให้กลุ่มหนึ่งรู้สึกว่าพวกเราเหนือกว่า มีวิถีชีวิตที่ดีกว่า เก่งกว่า ฉลาดกว่า ฯลฯ อีกกลุ่ม ความแตกต่างนี้ไม่จำเป็นต้องเกิดจากเรื่องอุดมการณ์ที่สลับซับซ้อนแต่อย่าง ไร เพียงแค่ความแตกต่างเล็กๆ น้อยๆ ที่เลือกไม่ได้อย่างสีผิวหรือสีนัยย์ตาก็เพียงพอที่จะทำให้เกิดการแบ่งแยก แล้ว และเมื่ออคติระหว่างกลุ่มเกิดขึ้น โอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งและความรุนแรงตามมาก็สูง แม้แต่ในคนที่รู้จักกัน เมื่อแบ่งแยกกันเป็นคนละพวก ก็พร้อมจะกระทำความรุนแรงต่ออีกฝ่ายได้เสมอ และก็จะมีคนฉวยโอกาสจากความขัดแย้งนี้มาเป็นประโยชน์แก่ตัวเองเสมอ

ในสารคดีได้อ้างอิงการทดลองของครู Jane Elliott ครูประถมในรัฐไอโอวา ในทศวรรษ 1960 โดยเกิดจากเด็กนักเรียนคนหนึ่งชื่อ Steven Armstrong เข้ามาถามว่าทำไม “Martin Luther King” ถึงโดนฆ่าตาย ครู Jane ไม่รู้จะอธิบายปัญหาเรื่องความขัดแย้งระหว่างสีผิวให้เด็กเข้าใจได้ยังไง เพราะเมืองนี้ไม่มีคนผิวสี เด็กไม่รู้จักการเหยียดผิว ดั้งนั้นครู Jane จึงได้จัดแบ่งเด็กออกเป็น 2 กลุ่มคือกลุ่มนัยย์ตาสีน้ำตาล และนัยย์ตาสีฟ้า โดยกลุ่มตาสีฟ้ามีสิทธิพิเศษมากกว่าพวกตาสีน้ำตาล เพียงไม่นานพวกตาสีฟ้าเริ่มทำตัวเป็นอันธพาลและหยิ่งยโส ขณะที่พวกตาสีน้ำตาลเริ่มแยกตัวออกห่าง ช็อก และเศร้าสร้อย นักเรียนคนหนึ่งบอกว่า “มันเป็นความรู้สึกเดียวกับตอนคนผิวสีถูกเรียกว่านิโกร” ซึ่งนั่นทำให้ครู Jane ตกใจมาก เพียงความแตกต่างเล็กน้อยก็นำมาสู่ความขัดแย้งได้แม้แต่ในเด็ก

ปัจจุบัน ครู Jane เป็นนักต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ และได้นำผลการทดลองในวันนั้นไปบรรยายและอ้างอิงอยู่เสมอๆ

Jane Elliott

Step 2 – Obey Orders (เชื่อฟังคำสั่ง)

 
 

เรามักคิดว่าเราไม่ได้เชื่อฟังคำสั่งในทุกเรื่อง แต่จะเชื่อฟังเฉพาะสิ่งที่คิดว่าดีเท่านั้น ถ้าโดนสั่งให้ไปฆ่าใคร เราก็จะไม่ทำ อย่างไรก็ตามสารคดีชิ้นนี้ก็แสดงให้เห็นว่า แท้จริงแล้วเราพร้อมที่จะทำตามคำสั่ง (ที่อาจมาในรูปคำขอร้อง) ของผู้อื่นโดยไม่คิดไม่ถามให้ถี่ถ้วนก่อนเสมอ ซึ่งอาจเป็นผลจากการตัดรำคาญ หรือไม่คิดว่ามันจะส่งผลอะไรนัก ปัญหาคือเมื่อเรายอมทำตามโดยไม่ตั้งคำถามว่า “ทำไมฉันจึงต้องทำแบบนั้น” ก็มีโอกาสที่จะมีผู้ชักนำให้เรากระทำในสิ่งที่ผิด ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามีอาชญากรรมที่เกิดจากการเชื่อฟัง มากกว่าการไม่เชื่อฟัง

การทดลองที่นำมาอ้างอิงในขั้นนี้ ทีมงานได้ซ่อนกล้องในรถไฟและให้ชายคนหนึ่งไปขอที่นั่งของผู้โดยสารแม้ว่าจะ มีที่อื่นว่าง ซึ่งผลปรากฏว่ากว่า 50% ยอมสละที่นั่งให้โดยไม่ถามคำถามอะไร และยิ่งเมื่อให้ชายคนนั้นมาพร้อมกับชายอีกคนซึ่งแต่งชุดเป็นตำรวจ อัตราการเชื่อฟังก็เพิ่มเป็น 100% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเราพร้อมที่ยอมทำตามที่ผู้อื่นบอกมากเพียงไร

 
 
Step 3 – Do ‘Them’ Harm (ทำร้าย “พวกเขา”)

 
 

เมื่อมีกลุ่มที่เหนือกว่าและพร้อมที่จะทำตามคำสั่ง ก็เป็นเรื่องง่ายที่เราจะทำร้ายคนอื่น หากผู้นำสั่ง แม้ว่าจะเป็นเรื่องขัดสามัญสำนึกของตัวเองก็ตาม การทำร้ายนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เมื่อผู้สั่งให้คำมั่นว่าจะเป็นผู้รับผิดชอบผลที่เกิดขึ้นเอง (แต่จะรับจริงหรือป่าวไม่รู้) เราจะรู้สึกว่าคงไม่เป็นอะไร เพราะหากเกิดอะไรผิดพลาด เราก็ไม่ต้องรับผิดชอบ ยิ่งถ้ามีการสร้างให้คู่ตรงข้ามเรามีคุณค่าต่ำกว่ามนุษย์ เราก็พร้อมที่จะกระทำรุนแรงได้ง่ายขึ้น การสร้างภาพศัตรูเป็นสัตว์ในช่วงสงคราม จึงมักถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อบ่อยๆ

การทดลองในขั้นนี้ เป็นการทดลองเกี่ยวกับการเชื่อฟังของ Stanley Milgram นักจิตวิทยาการทดลองชาวอเมริกันแห่งมหาวิทยาลัยเยลในปี 1961 โดย Milgram ได้คัดเลือกผู้เข้าร่วมการทดลองผ่านโฆษณาทางหนังสือพิมพ์ให้เข้าร่วม “การศึกษาเกี่ยวกับความจำ” เป็นเวลา 1 ชั่วโมง โดยพวกเขาจะได้รับมอบหมายให้แสดงบทบาทเป็น “ครู”และได้รับคำสั่งให้อ่านชุดของคำศัพท์ที่จับคู่กันให้แก่ผู้เข้าร่วมการทดลองอีกกลุ่มหนึ่งหรือ “นักเรียน” ฟัง จากนั้น “ครู” จะทดสอบความจำของ “นักเรียน” โดยอ่านเฉพาะคำศัพท์คำแรก และให้ “นักเรียน” ตอบคำศัพท์อีกคำซึ่งจับคู่กับคำแรก หากตอบผิด “ครู” จะกดปุ่มช็อตไฟฟ้า “นักเรียน” โดยที่ “ครู” และ “นักเรียน” จะไม่เห็นหน้ากัน ได้ยินเพียงเสียง

ทั้งนี้กระแสไฟฟ้าที่ช็อตจะแบ่ง ออกเป็นระดับๆ แต่ละระดับต่างกัน 15 โวลต์ เพื่อไม่ให้ “ครู” รู้สึกถึงความแตกต่างของแต่ละระดับมากนัก หาก “นักเรียน” ตอบผิดอีก “ครู” ก็จะกดปุ่มช็อตไฟฟ้าในระดับที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ผลก็คือจากอาสาสมัครกว่า 900 คน ประมาณ 2 ใน 3 ใช้กระแสไฟฟ้าสูงถึง 450 โวลต์ สูงกว่าที่ใช้ตามบ้านเรือนกว่า 2 เท่า แม้ว่ากลุ่มคนเหล่านี้จะประกาศก่อนทดลองว่าไม่มีทางใช้ไฟฟ้าช็อตคนที่ไม่รู้จัก

ในตอนท้าย Milgram เฉลยว่าทั้งหมดเป็นการจัดฉาก “นักเรียน” เป็นทีมงานของเขา และไม่ได้ถูกช็อตไฟฟ้าจริงๆ เพียงแต่แกล้งแสดงความเจ็บปวดออกมาเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การทดลองนี้ก็ถูกตั้งคำถามด้านจริยธรรมพอสมควร

Stanley Milgram

 
 
Step 4 – “Stand Up” or “Stand By” (“ยืนหยัด” หรือ “ยืนดู”)

 
 

เราอาจคิดว่า เมื่อเจอสิ่งไม่ชอบธรรม เราจะลุกขึ้นต่อต้านทันที หรือเมื่อเจอคนประสบเหตุร้าย เราจะเข้าช่วยเหลือทันที อย่างไรก็ตาม การทดลองในสารคดีแสดงให้เห็นว่า คนส่วนใหญ่มีความกังวลเมื่อต้องตัดสินใจว่าจะเข้าแทรกแซงเรื่องใดหรือไม่ หลายคนเลือกที่จะเพิกเฉย แต่การยืนดูอยู่รอบนอกในบางครั้งไม่ได้หมายความถึงการไม่ทำอะไรเลยเพียง อย่างเดียว แต่ยังคือการตัดสินใจไม่เข้าไปมีส่วนร่วม เมื่อคนเราไม่ยอมมีส่วนร่วมเมื่อพบเห็นสิ่งอยุติธรรม นั่นคือการอนุญาตให้ความอยุติธรรมนั้นดำเนินต่อไป ในทางจิตวิทยาสังคมเรียกลักษณะเช่นนี้ว่า “กลุ่มคนดู” ซึ่งมักมีจำนวนมากกว่า “กลุ่มคัดค้าน” จึงทำให้ง่ายต่อการนำไปใช้อ้างความชอบธรรมของผู้นำเผด็จการ

การทดลองในขั้นนี้มีอยู่ด้วยกัน 2 การทดลอง อย่างแรกทีมงานได้ให้ชายคนหนึ่งออกไปพูดไฮด์ปาร์คต่อหน้าฝูงชนโดยที่ซ่อน ไมค์ไว้ ในประเด็นเรื่อง “หากพบว่าเด็กในท้องพิการ ก็ควรกำจัดเสีย ไม่ควรให้เกิดมา” ขณะที่ทีมงานก็แอบถ่ายปฏิกิริยาของฝูงชน ผลปรากฏว่ามีเพียง 2-3 คนเท่านั้นที่พูดคัดค้าน ขณะที่เหลือเกือบร้อยคนยืนฟังเฉยๆ ไม่โต้ตอบและปล่อยให้ชายคนนั้นพูดจนจบ แม้ว่าจะไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของชายคนนั้นก็ตาม

ขณะที่การทดลองที่ 2 เป็นของ Dr.Mark Levine แห่งมหาวิทยาลัย Lancaster อังกฤษ โดยได้ให้ชายคนหนึ่งแกล้งวิ่งล้มต่อหน้าแฟนบอลแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เพื่อดูว่าเขาจะช่วยชายคนนั้นหรือไม่ ทั้งนี้ได้ให้ชายคนนั้นใส่เสื้อทีมฟุตบอลแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และลิเวอร์พูลสลับกัน ผลก็คือหากตอนนั้นชายคนนี้ใส่เสื้อแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็จะได้รับการช่วยเหลือทุกครั้ง แต่จะไม่ได้รับความช่วยเหลือเลยเมื่อใส่เสื้อลิเวอร์พูล นั่นแสดงให้เห็นว่า เราพร้อมจะช่วยหากเป็นคนที่มีความรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกัน แต่จะเป็นเพียงผู้ยืนดูกับคนนอกกลุ่ม ซึ่งรวมไปถึงเหตุการณ์ที่เราคิดว่าไม่เกี่ยวกับเราด้วย

Dr.Mark Levine

 
 
Step 5 – Exterminate (กำจัดให้สิ้นซาก)

 

การกำจัดให้สิ้นซาก หรืออีกนัยหนึ่งคือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในหน้าประวัติศาสตร์ เราอาจประหลาดใจว่าในหลายกรณีการฆ่านั้นเกิดขึ้นจากกลุ่มคนที่เคยเป็นเพื่อน บ้านกัน เคยดูแลใส่ใจกัน กลายเป็นที่หมางเมิน เกลียดกัน และลุกขึ้นมาฆ่าคุณได้โดยไม่มีเหตุผล โดยที่เขาอาจไม่รู้สึกผิดแต่อย่างไร ทั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อคุณให้ “อำนาจ” แก่คนใดคนหนึ่งมากเกินไป

การทดลองที่นำมาอ้างในขั้นนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นการทดลองที่ถูกพูดถึงมากที่สุดก็คือ การทดลองคุกแสตนฟอร์ด (Stanford Prison Experiment) ของศาสตราจารย์ Philip Zimbardo แห่งมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด ซึ่งได้คัดเลือกเด็กปริญญาตรีที่มีสุขภาพจิตดีจำนวน 24 คน มาแสดงบทบาทสมมติโดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มหนึ่งแสดงเป็น “นักโทษ” และอีกกลุ่มแสดงเป็น “ผู้คุม” (คล้ายกับการทดลองในขั้นที่ 1 แต่จริงจังกว่า) โดยใช้ห้องใต้ดินในมหาวิทยาลัยเป็นคุกจำลอง ทำทุกอย่างให้สมจริงที่สุด และมีกล้องวงจรปิดคอยจับตาพฤติกรรมตลอดเวลา ผลก็คือจากความรู้สึกขำๆ ในวันแรกๆ วันต่อๆ มา “ผู้คุม” เริ่มอินกับบทบาทและ “อำนาจ” ที่ได้รับ จนเริ่มทำทารุณนักโทษรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะสั่งให้แก้ผ้า สั่งให้วิดพื้น จับอดอาหาร ฯลฯ โดยเฉพาะในช่วงกลางคืนที่ “ผู้คุม” คิดว่ากล้องวงจรปิดไม่ทำงาน การทดลองนี้ต้องยุติลงภายในเวลา 6 วันจากที่กำหนดไว้ 14 วัน เนื่องจากมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงเกิดขึ้น การทดลองนี้ยังถูกโจมตีด้านจริยธรรมอย่างหนัก แต่ก็ทำให้ Zimbardo ได้ข้อสรุปที่ว่า “คนปกติธรรมดาทั่วไป ไม่ว่าใครก็สามารถกลายเป็นคนเลวได้ หากตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยุยงส่งเสริม”

Zimbardo ได้นำการทดลองนี้มาสร้างทฤษฎี The Lucifer Effect อธิบายว่า คนเราไม่มีดีไม่มีชั่วแต่กำเนิด ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อม หากอยู่ในสถานการณ์ที่เหมาะเจาะคนดีสุดขีดก็สามารถกลายเป็นคนเลวสุดขั้วเช่น กัน อยากให้คนทำดี จึงต้องไปทำให้สภาพแวดล้อมดี ระบบดี ให้เอื้อต่อการทำดี ไม่ใช่ไปหวังกับคนดี ทั้งนี้ Zimbardo ยังได้เขียนหนังสือชื่อ The Lucifer Effect บันทึกการทดลองในแต่ละวันอย่างละเอียดอีกด้วย อนึ่งชื่อ Lucifer นั้นเป็นชื่อของเทวทูตในศาสนาคริสต์ ที่พระเจ้าสร้างขึ้น แต่ต่อมาคิดกบฏต่อพระเจ้า จึงถูกขับไล่จากสวรรค์ และกลายเป็นซาตานในนรก

Philip Zimbardo

ท้ายที่สุดนี้ขอทิ้งท้ายด้วยคำกล่าวตอนท้ายในสารคดีที่ว่า

“นี่เป็นการเดินทางอันน่าสะพรึงกลัว แต่พฤติกรรมมนุษย์ที่นำไปสู่การกระทำที่เลวร้ายนี้ ก็เป็นพฤติกรรมเดียวกันกับที่สามารถนำไปสู่การเสียสละอันยิ่งใหญ่”

สุดท้ายนี้คงอยู่ที่คุณว่าจะยอมปล่อยให้ “ด้านมืด” ของตนเองออกมาหรือไม่

จุรีพร โนนจุ่น
Latest posts by จุรีพร โนนจุ่น (see all)