[Dawn of DC] ทำความรู้จักกับ (พหุ) จักรวาล DC ต้อนรับการมาของ BvS
ใกล้กำหนดฉายเข้ามาทุกขณะกับ 1 ในหนังซุปเปอร์ฮีโร่ฟอร์มยักษ์ของปีนี้ อย่าง “Batman v Superman: Dawn of Justice” ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการพบกันครั้งแรกบนจอหนังของ 2 ซุปเปอร์ฮีโร่ระดับ Top อย่าง Batman และ Superman แต่หนังเรื่องนี้ยังถือเป็นเดิมพันครั้งใหญ่ของ DC และ Warner ที่จะช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดวงการซุปเปอร์ฮีโร่ รวมถึงเปิดประตูสู่ “Justice League” หนังรวมซุปเปอร์ฮีโร่จากฝั่ง DC และหนังเดี่ยวในจักรวาล DC อีกหลายเรื่องที่จะตามมา
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ DC พยายามผลักดันให้ Justice League เกิดขึ้น ก่อนหน้านี้พวกเขาพยายามหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ไม่เคยสำเร็จ และสุดท้ายก็เลือกไปให้ความสำคัญกับหนังเดี่ยวของแต่ละคนจริง ซึ่งว่ากันจริงๆ ก็มีประสบความสำเร็จแค่ 2 คน นั่นคือ หนังของ Batman กับ Superman ขณะที่ซุปเปอร์ฮีโร่ในค่ายมีโอกาสออกจอน้อยมาก หรือมีออกมาก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ ถือเป็นปัญหาใหญ่ของ DC ไม่ว่าจะในส่วนของ Comics หรือ Live Action เลย ที่มีตัวดังสุดๆ อยู่ 2 ตัว แต่ตัวอื่นกลับไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก ขณะที่ทางฝั่ง Marvel ความดังจะกระจายๆ ไปในหลายตัวละครมากกว่า
จะว่าไปก็ต้องขอบคุณ Marvel เพราะการแผนการสร้างจักรวาลหนังของ Marvel หรือ Marvel Cinematic Universe (MCU) ขึ้นมา ผูกหนังหลายๆ เรื่องเข้าด้วยกัน โดยมี The Avengers ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ทั้งในแง่รายได้ และการสร้างฐานแฟนคลับ Marvel ให้เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ความสำเร็จแบบนี้เป็นแบบอย่างให้หลายค่ายเดินตาม รวมถึง DC เองที่เกิดเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการขยับเช่นกัน เพราะตัวเองก็มีทรัพยากรในมืออย่าง Justice League ที่สามารถนำมาใช้ได้เช่นกัน
แต่การสร้างจักรวาลของ DC ก็ไม่ได้เหมือนกับ Marvel เสียทีเดียว (เดี๋ยวทำตามมากไป ก็คงมีคนหาว่าลอกอีก) โดยในขณะที่ Marvel เลือกสร้างหนังเดี่ยวของแต่ละคนก่อน แล้วค่อยมารวมเป็น The Avengers รวมถึงเชื่อมเรื่องราวในหนังและซีรี่ส์เข้าเป็นจักรวาลเดียวกันเพื่อความต่อเนื่อง DC กลับเลือกใช้วิธีค่อยขยายเรื่องราวให้ใหญ่ขึ้น จาก Superman เป็น Batman กับ Superman และ Justice League จากนั้นค่อยแทรกพวกหนังเดี่ยวๆ เข้าไป รวมถึงยังติดสินใจแยกเรื่องราวในหนังกับซีรี่ส์ออกจากกันเป็นคนละจักรวาล โดยให้เหตุผลว่าเพื่อให้แต่ละส่วนสามารถพัฒนาส่วนของตนได้เต็มที่
การแยกจักรวาลเช่นนี้ ทำให้บางส่วนมองว่าเป็นการเสียโอกาสและอาจสร้างความสับสนได้ เกิดการเปรียบเทียบกันเองได้ โดยเฉพาะ The Flash ที่เวอร์ชั่นหนังกับซี่รี่ส์จะเป็นคนละคนกัน แต่กระนั้น DC ก็ยังไม่ไพ่ไม้ตายที่จะทำให้การแยกจักรวาลไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป นั่นก็คือ “พหุจักรวาล” หรือ “Multiverse” และหลังจากเกริ่นนำมาอย่างยาวนาน ในทีนี้จะขอไปทำความรู้จักความเป็นมากว่าจะเป็น DC Multiverse หนัง-ซีรีส์ในปัจจุบันกัน เพื่อที่เราจะได้รู้จักจักรวาล DC กันได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงอาจเป็นแนวทางสำหรับคนที่อยากตามจักรวาล DC ต่อไปด้วยโดยจะขอแบ่งการนำเสนอออกเป็น 4 Part คือ
Part 1: DC MULTIVERSE
Part 2: DC EXTENDED UNIVERSE
Part 3: DC TV UNIVERSE
Part 4: SUMMARY
PART 1: DC MULTIVERSE
“Multiverse” หรือพหุจักรวาล หรือที่เราอาจจะคุ้นกันในชื่อว่า จักรวาลคู่ขนาน เป็นเทคนิคที่ Comics อเมริกานำมาใช้ เวลาที่อยากจะเล่าเรื่องตัวละครเดิม แต่ในมุมที่แตกต่างออกไป เปลี่ยนประวัติภูมิหลัง เช่น จะเกิดอะไรขึ้นถ้า Superman ไม่ได้มาตกบนแผ่นดินสหรัฐฯ หรือจะเกิดอะไรถ้าซุปเปอร์ฮีโร่ Marvel เกิดติดเชื้อซอมบี้ขึ้นมา ซึ่งแน่นอนอยู่ๆ จะไปเปลี่ยนประวัติเลยคงไม่ได้ จึงดึงเอาแนวคิดวิทยาศาสตร์อย่างพหุจักรวาลที่มองว่า นอกจากจักรวาลเรานั้น ยังมีจักรวาลอื่นๆ เป็นมิติอื่นๆ ที่ซ้อนๆ กันอยู่ เราอาจมีตัวตนในจักรวาลนั้น แต่มีชีวิตและการตัดสินใจที่แตกต่างไปจักรวาลที่เราอยู่ เช่น ในจักรวาลนี้เราแต่งงานมีลูก 3 แล้ว แต่อีกจักรวาลหนึ่งเราขึ้นคานไปจนตาย พอนำแนวคิดนี้เข้ามาปัญหานี้ก็หมดไป อยากเขียนอะไรก็ได้ และยังทำให้สามารถดึงดูดกลุ่มคนอ่านรุ่นใหม่ๆ ได้มากขึ้น อย่างเช่นในกรณีของ จักรวาล Ultimate ของฝั่ง Marvel ที่สร้างขึ้นมาเพื่อดึงดูดนักอ่านรุ่นใหม่โดยเฉพาะ
Multiverse เป็นเทคนิคที่ใช้กันทั้ง DC และ Marvel แต่ DC นั้นค่อนข้างให้ความสำคัญกับตัว Multiverse มากกว่า เห็นได้จากมีความพยายามในการจัดระบบระเบียบจักรวาลใน DC ขึ้นหลายครั้ง ทั้งการรวบจักรวาลทั้งหมดให้เหลือเพียงจักรวาลเดียว หรือแตกแยกเป็นหลายจักรวาล แต่มีระบบใหญ่ครอบอยู่ ซึ่งในปัจจุบันนั้น ระบบจักรวาลของ DC Comics นั้นอยู่ในยุค “Multi-Multiverse” ซึ่งมีหลายจักรวาลไม่สิ้นสุด แต่มีแกนหลักอยู่ที่ระบบจักรวาล “New 52” ที่ประกอบด้วย 52 จักรวาลภายใน ความเอาจริงเอาจังกับเรื่อง Multiverse เห็นได้จากช่วงหนึ่ง DC ถึงขนาดเขียนแผนที่พหุจักรวาลของตัวเองขึ้น โดยเน้นความเชื่อมโยงของแต่ละจักรวาล และพยายามหาคำอธิบายให้ดูเป็นระบบมากที่สุด
แผนที่ Multiverse ของ DC ยุค New 52
“Multiverse” ของ DC จึงไม่ได้เป็นเพียง “What If” แต่มันคือระบบขนาดใหญ่ ที่แต่ละจักรวาลมีปฏิสัมพันธ์กัน มีผู้ครอบคลุม มีสิ่งที่อยู่เหนือจักรวาล และในแง่เนื้อเรื่อง DC ก็ใช้ประโยชน์จาก Multiverse ทั้งในแง่การเป็นเนื้อหาทางเลือก พื้นที่เก็บประวัติศาสตร์ตัวละครในอดีต และการเล่นกับเรื่องของการข้ามจักรวาลมาพบกัน สำหรับในส่วนของ Live Action ใครเคยดู The Flash ของช่อง CW ก็คงพอคุ้นเคยกับแนวคิดนี้กันบ้างแล้ว เพราะใน The Flash SS2 ตัว Multiverse กลายเป็น Main หลักของเรื่อง เพราะ The Flash ต้องเจอกับศัตรูที่มาจากอีกจักรวาลหนึ่ง และ Multiverse นี้เอง ที่เป็นประตูให้ DC สามารถที่จะทำการเชื่อมซีรีส์และหนังเข้าด้วยกันได้ (อาจรวมถึงสื่ออื่นๆ) ในอนาคต แม้ DC จะยังไม่ออกมายืนยันเกี่ยวกับแผนการนี้ แต่พวกเขาก็ไม่เคยปฏิเสธว่า Mulivese จะเป็นไปไม่ได้ พวกเขาบอกแค่ว่า หนังกับซีรี่ส์แยกจักรวาลกันเท่านั้น
PART 2: DC EXTENDED UNIVERSE
หลังจากทำความเข้าใจกับคำว่า Multiverse ในส่วนนี้จะขอพามารู้กับจักรวาลหนัง DC ปัจจุบัน หรือที่เรียกว่า “DC Extended Universe” (DCEU) โดยจักรวาลนี้จะมีแกนกลางที่ทีม Justice League แต่กว่าจะมาเป็นจักรวาลนี้ได้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยทีเดียว
ก่อนจะมาเป็น DCEU นั้น แม้จะมีหนังที่สร้างจาก DC หลายเรื่อง แต่เอาเข้าจริงก็วนเวียนอยู่กับแค่ 2 ตัวละครหลักเท่านั้น นั่นคือ Superman และ Batman แต่ทั้ง 2 เรื่องนั้นก็ประสบความสำเร็จมาก ในหลายๆ เวอร์ชั่น โดยเฉพาะ Superman เวอร์ชั่นของ Christopher Reeve และ Batman เวอร์ชั่นของ Michael Keaton ขณะที่หนังจากตัวละครอื่นๆ อาจมีแซมๆ มาบ้าง เช่น Supergirl หรือ Swamp Thing แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จนัก อย่างก็ตาม เนื่องจากยุคนั้นหนังซุปเปอร์ฮีโร่ไม่ได้เฟื่องฟูนัก ทางฝั่ง Marvel หนังก็ลุ่มๆ ดอนๆ ยิ่งกว่าอีก ดังนั้น แค่ Superman ก้บ Batman ก็คงพอแล้วมั้ง
Batman Begins & Superman Returns
จนกระทั่งเข้าสู่ยุค 2000 หนังซุปเปอร์ฮีโร่ก็เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะจากฝั่ง Marvel ที่ขายสิทธิตัวละครให้กับค่ายต่างๆ หนังที่ถือว่าเปิดยุคนี้ก็คงเป็น X-Men (2000) และประสบความสำเร็จสุดๆ กับ Spider-Man (2002) ฝั่ง DC เองก็ขยับเช่นกัน เพราะหลังจากที่ Batman & Robin กลายเป็นตราบาปสำคัญของค่ายไป ก็ถึงเวลาแล้วที่ DC จะหยิบเอาตัวชูโรงอย่าง Batman และ Superman มาขายอีกครั้ง นั่นทำให้ไฟเขียว “Batman Begins” ซึ่งเป็นการ Reboot อัศวินแห่งก็อทแธมใหม่อีกดรั้ง โดยโทนเรื่องที่สมจริง รวมถึง “Superman Returns” ซึ่งเป็นภาคต่อกึ่ง Reboot ของ Superman ในยุค 80’s (จริงๆ มี Catwoman ด้วยที่สร้างในช่วงนี้ แต่เราจะข้ามๆ เรื่องนี้ละกัน 555)
แม้จะไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการ แต่เชื่อกันว่าภายใน Warner และ DC นั้น (Warner เป็นบริษัทแม่ของ DC และตั้งแต่ยุค 90’s ก็ถือสิทธิในการทำหนังจาก DC ทุกเรื่อง) แอบคาดหวังว่าหากทั้ง 2 เรื่องประสบความสำเร็จ จะพัฒนาไปสู่การนำทั้ง 2 ฮีโร่มาพบกัน และอาจสร้างเป็น Justice League ต่อไปในอนาคต ข้อสันนิษฐานนี้เห็นได้จาก การปรากฏของโลโก้ Batman vs. Superman ในหนังเรื่อง “I am Legend” ซึ่งออกฉายเมื่อปี 2007 หลังจากที่ Batman Begins และ Superman Return ออกฉาย โดยต่อมาก็ได้มีการเปิดเผยจาก “Francis Lawrence” ผู้กำกับ I am Legend ถึงเหตุที่ใส่โลโก้นั้นเข้าไป ก็เพราะขณะนั้นผู้อำนวยการสร้างและคนเขียนบทของหนังเรื่องนี้ กำลังอยู่ในช่วงเขียนบทร่างแรกของ Batman vs Superman อยู่ [1]
นอกเหนือจาก Batman Begins และ Superman Return แล้ว ขณะนั้น Warner ก็วางแผนจะผลักดันซุปเปอร์ฮีโร่อื่นใน DC ให้กลายเป็นหนังเช่นกัน โดยได้ดึง “Joss Whedon” เข้ามาร่วมพัฒนาบทและเตรียมกำกับให้กับ “Wonder Woman” ตั้งแต่ปี 2005 [2] ขณะที่ “David S. Goyer” หนึ่งในผู้เขียนบทจาก Batman Begins ก็ประกาศในปี 2007 ว่ากำลังอยู่ในช่วงพัฒนาบทให้กับ “The Flash” โดยคาดหวังว่าจะดึง “Ryan Reynolds” มารับบทนำ [3] (David กับ Ryan คุ้นเคยกันดีจากการร่วมงานใน Blade: Trinity)
ภาพ Logo Superman vs. Batman ในหนัง I am Legend (ที่มา)
อย่างไรก็ตาม โปรเจค Wonder Woman ก็ล่มลง เมื่อ Joss Whedon ประกาศถอนตัวจากโปรเจค ในปี 2007 ก่อนที่ต่อมาเขาก็กลายเป็นกำลังหลังในการก่อร่างสร้าง Marvel Cinematic Universe 2 Phase แรก ส่วนโปรเจค The Flash ก็ไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างไร Ryan Reynolds หันไปรับบท Deadpool ใน X-Men Origins: Wolverine (2009) แทน แต่ก็กลับมา DC อีกครั้งใน Green Lanturn (2011) ซึ่งก็แป๊กทั้ง 2 เรื่อง ต้องรอจนปี 2016 กว่า Ryan จะกลับมาได้อีกครั้งด้วย Deadpool
ด้านหนังที่เป็นความหวังอย่าง Batman Begins และ Superman Returns ก็ดูจะยังสร้างความประทับให้กับสตูดิโอได้ไม่เท่าที่คาด ในกรณีของ Batman Begins นั้น รายได้เปิดตัวไม่ได้หนีห่างจากภาคที่เป็นตราบาปอย่าง Batman & Robin มากนัก อย่างไรก็ตาม ด้วยคำวิจารณ์ที่ค่อนข้างดี เกิดกระแสปากต่อปากจนหนังเก็บเงินได้เรื่อยๆ แถมยังมีรายได้จากทางอื่น (ของเล่น DVD) ที่ค่อนข้างดี ทำให้ Warner ซึ่งขณะนั้นมี “Jeff Robinov” เป็น CEO ของ Warner Brother Motion Group ซึ่งรับผิดชอบงานสร้างหนังโดยตรง [4] ไฟเขียวให้ “Christopher Nolan” สร้างภาคต่อของ Batman ได้
ส่วน Superman Returns ไม่ได้โชคดีเช่นนั้น เพราะรายได้ไม่เป็นไปตามเป้า และคำวิจารณ์ก็ดูธรรมดาเกินไป จากที่ตอนแรกวางไว้ว่าจะสร้างภาคต่อ ทาง Warner เลยตัดสินใจพักและยกเลิกโครงการไป นักแสดงนำอย่าง “Brandon Routh” ก็หลุดวงโคจรวงการนี้ไปเลย แต่ตอนหลัง Brandon ก็ได้กลับมาร่วมงานกับ DC อีกครั้ง แต่เป็นในซีรี่ส์ โดยเรารับบท “Atom” ใน “Arrow”
แม้แผนการผลักดัน Justice League บนจอหนังจะยังไม่เกิดขึ้น แต่ในฟากของซีรี่ส์นั้น Warner และ DC ได้เริ่มแนะนำเหล่าสมาชิก Justice League วัยหนุ่มให้เป็นที่รู้จักในซีรี่ส์ “Smallville” โดยเริ่มแนะนำมาตั้งแต่ Season 4 (2004-2005) และมีบทเด่นใน Season 6 (2006-2007)
Justice League Mortal
กุมภาพันธ์ 2007 ไม่นานหลังจาก Joss Whedon ถอนตัวจากโปรเจค Wonder Woman ก็มีข่าวว่า Warner ได้ว่าจ้าง คู่สามีภรรยานักเขียนบท “Kieran and Michele Mulroney” [5] มาพัฒนาบทหนังของ “Justice League” ซึ่งน่าจะถือได้ว่าเป็นการเคลื่อนไหวอย่างเป็นทางการครั้งแรกของ Warner และ DC ในการผลักดัน Justice League ให้เป็นจริงขึ้นมา
The Mulroney พัฒนาบทของ Justice League โดยอ้างอิงจาก Comics หลายหัว ซึ่งในเวอร์ชั่นนี้จะมีสมาชิกหลัก คือ Superman, Batman, Wonder Woman, Aquaman, Green Lantern, The Flash และ Martian Manhunter เนื้อหาจะไม่ได้เล่าต้นกำเนิด แต่เป็นเรื่องราวหลังจากที่แต่ละคนเป็นซุปเปอร์ฮีโร่แล้วพักหนึ่ง บทของ The Mulroney เป็นที่ถูกใจของ Warner พอสมควร [6] แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนในตอนนั้นว่า Warner จะบทหนังนี้เป็นจักรวาลเดียวกันกับ Batman Begins และ Superman Returns หรือไม่
แต่ไม่นานนักทุกอย่างก็เริ่มชัดเจนขึ้น เดือนกันยายน 2007 Warner ก็ได้จ้าง “George Miller” มาเป็นผู้กำกับหนัง “Justice League Mortal” พร้อมการยืนยันว่าหนังจะแยกต่างหากจาก Batman ของ Nolan และ Superman ของ Singer หนังวางแผนจะเริ่มถ่ายทำในเดือนกุมภาพันธ์ 2008 โดยระหว่างนั้นได้มีการ casting ผู้รับบทตัวละครต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักแสดงหน้าใหม่หรือยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก หนังยังวางแผนจะยกกองไปถ่ายทำกันที่ออสเตรเลีย บ้านเกิดของ George Miller
รวมภาพโปสเตอร์ Justice League Mortal ที่ปล่อยออกมา (ที่มา)
อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายปี 2007 นั้นเอง ก็เกิดการประท้วงใหญ่ของสมาคมผู้เขียนบท ทำให้วงการ Hollywood ช่วงนั้นต้องหยุดไปพักนึง ส่งผลให้บทฉบับสมบูรณ์เสร็จไม่ทันตามกำหนด ซ้ำร้ายยังต้องมาเจอปัญหาออสเตรเลียเรียกเก็บภาษีในอัตราสูง จนอาจทำให้ทุนสร้างปลาย Warner จึงตัดสินใจชะลอโปรเจคนี้เอาไว้ แม้ว่าจะได้นักแสดงครบ สุดท้ายโปรเจคนี้ก็โดนลอยแพอย่างสมบูรณ์ เมื่อกลางปี 2008 “The Dark Knight” ได้เข้าฉาย และกลายเป็นปรากฎการณ์ในช่วงเวลานั้น ทำให้ Warner หันไปให้ความสำคัญกับหนังเดี่ยวของเหล่าซุปเปอร์ฮีโร่แทน
The Dark Knight Effects
“The Dark Knight” กลายเป็นความสำเร็จที่เกิดคาดของทั้ง Warner และ DC หนังประสบความสำเร็จอย่างงดงามทั้งรายรับและคำวิจารณ์ ได้รับการยกย่องให้เป็นมาตรฐานใหม่ของหนังซุปเปอร์ฮีโร่ และเป็นการพิสูจน์ว่าหนังซุปเปอร์ฮีโร่สามารถเป็นอะไรได้มากกว่าแค่การเอาฮีโร่มาอัดตัวร้าย Christopher Nolan ก็มีฐานแฟนคลับมากขึ้นจากหนังเรื่องนี้ (แน่นอนผมก็คือหนึ่งในนั้น) และแม้ The Dark Kinght จะไม่ได้รวมอยู่ใน DCEU แต่ DCEU คงไม่เป็นเหมือนในปัจจุบันนี้ ถ้าไม่มี The Dark Knight
สิ่งที่ The Dark Knight สร้างขึ้นให้กับจักรวาล DC คือการทำให้ภาพลักษณ์หนัง DC กลายเป็นซุปเปอร์ฮีโร่ที่เน้นความสมจริง และมีเนื้อหาที่ค่อนข้างมืดหรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า “Dark” ภาพลักษณ์นี้ชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อในช่วงเวลาใกล้ๆ กัน Warner ได้ปล่อยหนังอยาง “V for Verdetta” (เนื้อหาจากคอมมิคค่าย Vertigo ที่เป็นค่ายลูกของ DC) หรือ “Watchmen” ที่มีโทนเรื่องมืดหม่นมาด้วยเช่นกัน ภาพลักษณ์เช่นนี้เป็นทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือ มันกลายเป็นเอกลักษณ์ของ DC ที่ค่ายอื่นไม่มี แต่ข้อเสียก็คือ มันก็อาจทำให้การสร้างหนังจากตัวละครอื่นใน DC ยากขึ้นเช่นกัน
ภาพลักษณ์ของ DC และ Marvel ในหนังกับ Comics นั้นค่อนข้างจะผิดฝาผิดตัวอยู่ เพราะในขณะที่ Comics จากฝั่ง Marvel มักถูกมองว่าสมจริงกว่า เพราะมีตัวละครที่ดูมิติ มีข้อบกพร่องเช่นเดียวกับคนทั่วไป แต่พอเป็นหนังกลายเป็นว่า หนังจาก DC ถูกมองว่ามีความสมจริงและดาร์คกว่าซะงั้น ทั้งที่จริงถ้าไม่นับ Batman ตัวละครอื่นในจักรวาล DC ค่อนข้างสดใส แสนดี และมีพลังระดับโอเวอร์เป็นหลัก พอเป็นเช่นนี้ ถ้าจะเอา Superman มาอยู่ในจักรวาลของ Chris Nolan เลยก็คงแปลกๆ อยู่บ้าง และตัว Nolan เองก็ดูเหมือนจะตั้งใจให้ Batman ของเขาเป็นเอกเทศอยู่ ซึ่งนั่นทำให้เป็นเรื่องยากหากจะให้สร้าง Justice League ที่มีเนื้อเรื่องสืบเนื่องจาก Batman ของ Nolan เลย
The Dark Knight
ในช่วงนั้น (2008-2012) นอกจากหนังของ Chris Nolan แล้ว Warners ยังมี Harry Potter และ The Hangover เป็นแฟรนไชรส์หนังทำเงินของค่าย และยังอยู่ในช่วงพัฒนา The Hobbit ขึ้นมา ทำให้ Warner เห็นว่า Justice League ยังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนนัก ยิ่งเมือเจอกับความล้มเหลวของ “Green Lantern” (2011) ที่คาดหวังจะเป็นการแนะนำตัวละครอื่นในจักรวาล DC ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ตอกย้ำความหวาดหวั่นให้กับ Warner อีกครั้ง ทำให้ความมุ่งมั่นที่จะผลักดัน Justice League ถูกลดความสำคัญไปอีก
Man of Steel
แม้ภาคต่อของ Superman Returns จะล้มเลิกไป แตก็มีข่าวในปี 2008 ว่า ทาง Warner อาจเลือกที่จะ Reboot เรื่องราวตัวละครนี้แทน [7] โดยใช้แนวคิดจาก Christopher Nolan กับ David S. Goyer ที่ได้ไอเดียในการสร้าง Superman เวอร์ชั่นใหม่ระหว่างการพูดคุยเตรียมงาน The Dark Knight Rises ให้มีโทนที่ดูจริงจังและทันสมัยมากขึ้น แนวคิดนี้ได้รับการตอบรับจาก Jeff Robinove CEO ของ Warner Film และได้พัฒนาจนกลายเป็นโปรเจค “Man of Steel” ซึ่งต่อมาก็ได้ว่าจ้าง “Zack Snyder” ที่เคยทำงานร่วมกับ Warner ในเรื่อง 300 และ Watchmen มากำกับ โดยมี Christopher Nolan เป็นผู้อำนวยการสร้าง และ David S. Goyer เป็นคนเขียนบท
แต่จะว่าไปเหตุผลจริงๆ ที่ Jeff ไฟเขียวให้กับ Man of Steel น่าจะเพราะความสำเร็จอย่างสูงของ Nolan จะว่าเป็นพลังศรัทธาก็ว่าได้ (Jeffโดดเด่นเรื่องสายสัมพันธ์และการดึงคนทำงานระดับ Top มาร่วมงานกับ Warner) ตัว Warner เองยังแอบคาดหวังว่า Man of Steel จะเป็นการเซ็ทโทนจักรวาลหนังของ DC ขึ้นมาใหม่ ให้ดูเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และอีกเหตุผลหนึ่งก็คือ ขณะนั้น DC กำลังมีเรื่องฟ้องร้องกับครอบครัว Siegel หนึ่งในผู้สร้างตัวละคร Superman ฟ้องร้องกันในหลายศาล ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ และหนึ่งในคำตัดสินคือให้ DC ต้องเริ่มงานสร้าง Superman ภาคใหม่ภายในปี 2011 ไม่อย่างนั้นจะเสียสิทธิ ซึ่ง Man of Steel ก็เริ่มงานสร้างในปี 2011 จริงๆ (อย่างไรก็ตาม ในปี 2012 DC ก็ชนะได้สิทธิเด็ดขาด)
Man of Steel
“Man of Steel” ออกฉายในปี 2013 ค่อนข้างประสบความสำเร็จบนตาราง Box Ofiice โดยทำเงินไป 660 กว่าล้านเหรียญฯ ทั่วโลก จากทุนสร้าง 225 ล้านเหรียญ นี่ยังไม่รวมรายได้จากโฆษณาแฝงและพันธมิตรที่ว่ากันว่าได้รายได้จากจุดนี้กว่า 160 ล้านเหรียญฯ [8] และหนังเรื่องนี้ก็ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ DCEU พร้อมๆ กับที่ Zack Snyder ได้กลายเป็นคีย์แมนหลักให้กับจักรวาลนี้
Justice League
ระหว่างงานสร้าง Man of Steel นั้น ในปี 2012 Warner ก็แสดงออกว่าเริ่มกลับมาให้ความสำคัญกับ Justice League อีกครั้ง สาเหตุสำคัญเนื่องจากในปีนั้น “The Dark Knight Rises” ได้ออกฉาย และ Nolan เองก็แสดงเจตนาชัดเจนว่าไตรภาคของเขาจบลงแล้วในภาคนี้ ขณะที่ Harry Potter ก็ปิดแฟรนไชรส์ไปแล้ว ดังนั้น Warner จึงจำเป็นต้องหาแฟรนไชรส์เรื่องใหม่มาเป็นตัวทำให้เงินให้ค่ายต่อไป ยิ่งในขณะนั้น The Avengers และหนังจาก MCU ประสบความสำเร็จอย่างมากมาย Warner จึงต้องขยับตัวอีกครั้ง และโปรเจค Justice League ก็ได้รับการปัดฝุ่นขึ้นใหม่
Warner ได้ว่าจ้าง “Will Beall” มาพัฒนาบทของ Justice League [9] โดย Jeff คาดหวังว่า Christopher Nolan จะมากำกับ Justice League ให้ต่อ แต่ก็ได้รับการปฏิเสธจาก Nolan เพราะเขาพอแล้วกับซุปเปอร์ฮีโร่ ต่อมา Warner ยังได้ทาบทามให้ “Ben Affleck” มากำกับโปรเจคหนังเรื่องนี้ เพราะประทับใจกับผลงานกำกับของ Ben จาก The Town และ Argo แต่ทางตัวแทนของ Ben ก็ออกมาปฏิเสธ และตัวเขาเองก็เคยประกาศว่าจะไม่เล่นหนังที่ตัวเองไม่ได้กำกับ [10] ตอนนั้นไม่มีใครคิดว่า Ben Affleck จะมาเล่นเป็น Batman ด้วยซ้ำ)
Justice League
ชัยชนะในดดีฟ้องร้องลิขสิทธิ์เกี่ยวกับ Superman ของ DC ที่มีเหนือครอบครัว Siegel ในปี 2012 เป็นผลดีให้ Warner สามารถผลักดัน Justice League ได้เต็มที่ แต่ก็ดูเหมือน Warner จะยังกล้าๆ กลัวๆ อยู่ โดยในตอนแรกพวกเขาวางแผนจะสร้างและออกฉาย Justice League ในปี 2015 (ปีเดียวกับที่ The Avengers 2 ออกฉาย) และใช้แผนการสร้างจักรวาลที่ตรงข้ามกับ Marvel นั่นคือทำหนังรวมออกมาก่อน แล้วค่อยทำหนังเดี่ยวของแต่ละคนภายหลัง แต่สุดท้าย Warner ก็ตัดสินใจชะลอโปรเจคนี้อีกครั้ง เพื่อรอดูผลตอบรับของ Man of Steel ที่จะฉายในปี 2013 ก่อน และยังมีข่าวว่าหาก Man of Steel ประสบความสำเร็จ พวกเขาอาจให้ Zack Snyder กำกับ Justice League ต่อ [11]
New CEO, New Vision
ปี 2013 กลายเป็นปีสำคัญของ DC เพราะนอกจาก Man of Steel จะเข้าฉายปีนี้แล้ว ในแง่การบริหารปีนี้ Warner Bros. Entertainment ยังได้ CEO คนใหม่คือ “Kevin Tsujihara” ซึ่งเข้ามารับตำแหน่งในเดือนมีนาคม โดยก่อนหน้านั้น Kevin รับหน้าที่ดูแลในส่วนของ Warner Bro. Home Entertainment มาก่อน ในช่วงไล่เลี่ยกันยังได้การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ใน Warner เมื่อ “Bruce Rosenblum” CEO ของ Warner Bros. Television ที่ดูแลในส่วนของเนื้อหาทางทีวี และ “Jeff Robinov” CEO ของ Warner Bros. Motion Picture ที่ดูแลในส่วนงานสร้างหนัง ต่างลาออกด้วยกันทั้งคู่ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า อนาคตของ Warner จะดำเนินไปในทิศทางใด เพราะที่ผ่านมาทั้ง 2 คน ต่างมีบทบาทและสร้างความสำเร็จให้กับ Warner ไม่น้อย
ภายหลังการลาออกของทั้งฝ่าย TV และ Movie Kevin ได้จัดระบบการบริหารใหม่ โดยให้ทั้ง 2 บริษัทย่อย มีการรายงานตรงต่อตัวเขา จากเดิมที่ค่อนข้างเป็นอิสระและมีสิทธิขาดพอตัว [12] (จะว่าไปนี่อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ Bruce และ Jeff ลาออกก็เป็นได้) การเพิ่มอำนาจสิทธิขาดของ Kevin อาจมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ในส่วนของ DC นั้น มันเป็นโอกาสครั้งสำคัญ เพราะ Kevin หันมาให้ความสำคัญกับ DC ในฐานะทรัพยากรอันมีค่าของบริษัท เขาต้องการผลักดันให้เป็นแหล่งรายได้ของ Warner ต่อไปในอนาคต ดังนั้น นับตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา จะสังเกตได้ว่า Warner ลงทุนไปอย่างมหาศาลในการผลักดัน DC ทั้งในส่วนของ Movie และ TV ร่วมถึง Game Animation หรือสินค้าต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับ DC ก็ถูกผลักดันออกมามากขึ้นในยุคนี้
Kevin Tsujihara CEO ของ Warner Bros. Entertainment คนปัจจุบัน
Batman v Superman
ไม่นานหลัง Man of Steel ออกฉาย ในงาน Comic Con 2013 Zack Snyder ก็ได้ออกมาประกาศว่ากำลังจะทำ Man of Steel 2 โดยมีเนื้อหาว่าด้วยการปะทะกันระหว่าง Superman กับ Batman พร้อมเปิดตัว Logo หนัง และวางแผนจะฉายในปี 2015 โดยจะมี David S. Goyer กับ Zack Snyder มาร่วมกันเขียนบท การประกาศนี้เรียกเสียงฮือฮาได้อย่างมาก ในช่วงนั้นยังมีข่าวลือว่า Warner เองเตรียมจะสร้าง The Flash ออกฉายในปี 2016 และ Justice League ออกฉายในปี 2017 [13]
เดือนถัดมาหลังจากประกาศสร้าง Man of Steel 2 Warner ก็ได้ตัว Batman คนใหม่ นั่นก็คือ “Ben Affleck” ซึ่งเคยถูกเสนอให้เป็นผู้กำกับ Justice League เมือปี 2012 มาก่อน การมาของ Ben ดูจะได้รับผลตอบรับที่ไม่ดีนักในช่วงแรก ถึงข้อกังขาในฝีมือการแสดง ความล้มเหลวของ Daredevil ที่เขาเคยรับบท รวมถึงมาตรฐานที่ Christian Bale ทำไว้ค่อนข้างดี แต่ Ben ก็ไม่ใช่คนเดียวที่เจอปัญหานี้ เพราะหลังจากนั้นเมื่อโปรเจคนี้ประกาศนักแสดงเข้ามาเรื่อยๆ ทุกครั้งก็มักจะมีข้อกังขาเสมอ เช่น การประกาศว่า “Gal Gadot” จะมารับบท “Wonder Women” ก็มีบางส่วนมองว่าเธอ “ผอมแห้ง” เกินไป การประกาศว่า “Jesse Eisenberg” จะมารับบท “Lex Luthor” เสียบตอบรับก็แบบเด็กไปมั้ย (จริงๆ Jesse อายุจริงเท่า Henry นะ) ดูเนิร์ดไป “Ray Fisher” ในบท “Cybrog” ก็ถามว่า ใครอ่ะ ไม่รู้จัก หรือ “Eza Miller” ที่ถูกประกาศว่าจะมารับบท “The Flash” ก็โดนนำไปเปรียบเทียบกับ Grant Gustin เจ้าของบท The Flash ในเวอร์ชั่นซีรี่ส์ที่ขณะนั้นทันที แล้วบอกว่า Grant เหมาะกว่า (จริงๆ ตอน Grant ได้บทช่วงแรกๆ ก็มีคนหาว่าไม่เหมาะเหมือนกันนั้น)
Ben Affleck, Henry Cavill และ Gal Gadot ในงาน Comic Con 2014 (ที่มา)
แต่ไม่ว่าจะยังไง Warner ก็สั่งเดินหน้าเต็มที่ และการแคสบทซุปเปอร์ฮีโร่คนอื่นๆ ไว้ล่วงหน้า ก็เป็นการยืนยันว่า Justice League จะเกิดขึ้นแน่นอน ทั้งนี้ในช่วงปลายปี 2013 David S. Goyer ได้ถอนตัวจากตำแหน่งคนเขียนบทเพราะติดโปรเจคอื่น และหนังได้ “Chris Terio” มือเขียนบทเจ้าของรางวัล Oscars จากเรื่อง Argo มารับช่วงต่อ ซึ่ง Chris ได้กลายเป็นอีกหนึ่งกำลังหลักของ DCEU ในเวลาต่อมา เมื่อเขาได้เป็นคนพัฒนาบทให้กับ Justice League ต่อ ส่วนบทที่ Wll Beall เคยพัฒนาไว้ในช่วงปี 2012-2013 นั้น ก็ถูกพับเก็บไปอย่างสมบูรณ์
Dawn of Justice
และแล้วความฝันของแฟน DC ก็เป็นจริง เมื่อในเดือนเมษายน 2014 Warner ได้ออกมาประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะสร้าง Justice League โดยมี Zack Snyder เป็นผู้กำกับ และเริ่มเด่นชัดกว่า Man of Steel 2 จะไม่ใช่หนังภาคต่อ หากแต่เปลี่ยนสถานะเป็นหนัง Superman vs. Batman แทน ซึ่ง Warner จะใช้หนังเรื่องนี้เป็นบันไดนำไปสู่ Justice League ซึ่งไม่กี่วันต่อมาก็มีการประกาศชื่ออย่างทางการของหนังเรื่องนี้ว่า “Batman v Superman: Dawn of Justice”
ในงาน Comic Con 2014 Zack ได้ปล่อยฟุตเตจแรกจากหนัง เรียกเสียงฮือฮาได้เช่นเดิม และยังถือเป็นครั้งแรกที่ 3 ฮีโร่เสาหลักของ DC หรือที่เรียกว่า Trinity ได้มาปรากฎตัวพร้อมกันบนเวที ต่อมา Warner ยังได้ประกาศกำหนดฉายใหม่ของ Batman v Superman เป็น 25 มีนาคม 2016 (ก่อนหน้านั้นเคยเลื่อนไปเป็น 6 พฤษภาคม 2016 ชนกับ Capt. America 3 แต่ Marvel ไม่เลือ่น Warner เลยตัดสินใจย้ายมาเป็นเดือนมีนาคมแทน) นอกจากนี้ Warner ยังประกาศว่าจะมีหนังจาก DC อีก 9 เรื่อง ที่จะออกฉายระหว่างปี 2016-2020 [14] โดยต่อมาก็มีการเปิดเผยว่าหนังเหล่านั้นก็คือ Suicide Squad (2016), Wonder Woman (2017), Justice League Part One (2017), The Flash (2018), Aquaman (2018), Shazam (2019), Justice League Part Two (2019), Cyborg (2020) และ Green Lantern Corps (2020)
ทั้งนี้ Justice League ในฉบับ DCEU จะมีสมาชิก 7 คนคือ Superman, Batman, Wonder Woman, Aquaman, The Flash, Cyborg และ Green Lantern และปลายปี 2014 “Geoff Jonhns” CCO ของ DC และยังเป็นผู้ผลักดันซีรีส์ DC หลายเรื่อง ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า จักรวาลหนังและจักรวาลซีรี่ส์ของ DC นั้นจะแยกออกจากกัน เพื่อให้แต่ละส่วนมีอิสระในการเล่าเรื่องได้อย่างเต็มที่ [15] (แต่เหตุผลจริงๆ อาจเพราะขณะนั้นซีรี่ส์ดำเนินมาจนยากจะรวมเข้ากับจักรวาลหนังแล้ว และอาจไมต้องการให้ดูเหมือน Marvel เกินไป)
หนังของ DCEU ที่จะเข้าฉาย (ที่มา)
Warner ลงทุนกับ BvS ไปพอสมควร ด้วยงบการสร้างกว่า 250 ล้านเหรียญ [16] แต่บางแหล่งก็ระบุว่างบบานปลายกว่า 400 ล้านเหรียญ (คิดว่าน่าจะรวมพวกงบประชาสัมพันธ์ไปด้วย) อย่างไรก็ตาม การลงทุนครั้งนี้เป็นสิ่งจำเป็น กำไรจะมากน้อยสำหรับ BvS อาจไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุด (จริงๆ ก็สำคัญนั่นแหละ) เพราะ Warner หวังระยะยาวกับบรรดาหนัง DC ที่จะตามมามากกว่า ดังนั้น ผลสำเร็จของเรื่องนี้จึงอยู่ที่มันอยากทำให้เราอยากดูหนังใน DCEU ต่อแค่ไหนมากกว่า แต่ก็ไม่ต้องไปห่วงเรื่องรายได้เขามากหรอก ลำพักแค่รายได้จากการขายของ โฆษณาแฝง และพันธมิตรทางธุรกิจตอนนี้ ก็น่าจะสร้างความอุ่นใจให้หนังได้พอควร
Suicide Squad
นอกจาก Justice League และบรรดาหนังเดี่ยวของเหล่าสมาชิกทีมแล้ว อีกอันที่น่าสนใจก็คือ “Suicide Squad” ซึ่งเป็นหนังรวมดาวร้ายของ DC อาทิ Joker, Harley Quinn, Deadshot, Captain Boomerang เป็นต้น โดย Warner เริ่มเดินหน้าโปรเจคในช่วงปลายปี 2014 และได้ “David Ayer” ที่เป็นผู้เสนอไอเดียนี้เข้ามาทำหน้าที่ทั้งเขียนบทและกำกับ ที่น่าสนใจก็เพราะเป็นครั้งแรกที่จะสร้างหนังที่เน้นเฉพาะตัวร้าย และ DC เองก็ค่อนข้างขึ้นชื่อในการทำให้ตัวร้ายน่าสนใจ (จะว่าไปตัวร้ายหลายตัวใน DC ดังกว่าพวกฮีโร่เสียอีก) การหยิบเอาตัวร้ายมาทำเป็นหนังจึงเป็นความคิดที่เข้าท่าไม่น้อย
Suicide Squad
Suicide Squad ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อย หลังจากปล่อยตัวอย่างในงาน Comic Con 2015 และการโปรโมตที่เริ่มปล่อยภาพและข้อมูลต่างๆ ออกมา โดย Suicide Squad จะมีเนื้อหาอยู่ในช่วงระหว่าง Man of Steel กับ Batman v Superman แม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับ Justice Leage โดยตรง แต่ David Ayer ยืนยันว่าจะมีหลายส่วนที่อ้างอิงไปยังเรื่องราวในหนังอื่นของ DCEU ทั้งนี้ โทนหนังของ Suicide Squad จะยังคงสไตล์ความมืดหม่นที่เป็นเอกลักษณ์ของ DCEU ไว้ แต่เพิ่มความตลกร้าย (Dark Comedy) เข้าไป
Suicide Squad จะออกฉาย 5 สิงหาคมปีนี้
Sandbox
ในขณะที่ Marvel ค่อนข้างมีแผนการที่ชัดเจนเกี่ยวกับ MCU ทั้งการแบ่งเป็นเฟสๆ การวางโครงเรื่องใหญ่ที่เกี่ยวข้องการรวมรวม Gem ซึ่งสุดท้ายจะนำไปสู่การปะกันระหว่าง Thanos กับทีม The Avengers ใน “Infinity War” แต่สำหรับ DC แล้ว อาจยังมีข้อสงสัยว่าพวกเขาวางแผนการเกี่ยวกับ DCEU ไว้อย่างไร
ซึ่งสำหรับเรื่องนี้ Zack และ Deborah Snyder (ภรรยาของ Zack และเป็นผู้อำนวยการสร้างในหนังของ Zack ด้วย) ก็ได้ออกมาบอกว่า DCEU จะไม่ใช่งานสะเปะสะปะไร้ทิศทาง หากแต่จะเป็นเหมือน “กระบะทราย” (Sandbox) ขนาดใหญ่ ที่หนังแต่ละเรื่องจะมีพื้นที่ มีมุมของตัวเอง แต่ทั้งหมดก็ยังอยู่ในกระบะทรายอันเดียวกัน พวกเขามี Concept ของ Justice League และหนังทุกเรื่องจะมีส่วนที่สนับสนุน Concept นั้น โดยที่ผู้สร้างสามารถใส่ความเป็นตัวเองลงไปได้เช่น [17] ซึ่งกว่าเราจะรู้ว่า Concept ที่ว่านั้นคืออะไร ก็คงต้องรอจนหนังฉายนั่นแหละ
Zack Snyder ผู้กุมบังเหียน DCEU ขณะนี้
แต่หากให้ลองวิเคราะห์ดู โดยเฉพาะจากข่าวล่าสุดที่ออกมาว่า The Flash และ Aquaman จะไม่ใช่หนังต้นกำเนิดตัวละคร แต่ดำเนินเรื่องหลังเหตุการณ์ Justice League ทำให้คาดว่า DCEU อาจดำเนินเรื่องผ่าน Event โดยมี Event ใหญ่เป็นแก่นของ Justice League ขณะที่เรื่องอื่นๆ จะเป็น Event ย่อยๆ ที่เกี่ยวเนื่องกันไป ลักษณะเช่นนี้ทำให้หนังอาจไม่ได้เน้นเรื่องประวัติกำเนิดตัวละครมากนัก แต่ข้ามไปที่การปฏิบัติการของซุปเปอร์ฮีโร่เลย ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ก็ดูเหมาะกับ DC ดี เพราะตัวละครของ DC นั้น ส่วนใหญ่ดราม่าเกี่ยวกับตัวละครไม่ค่อยเด่นนัก แต่จะไปเด่นพวกการผูกเรื่องเป็น Event ต่างๆ แทน
Welcome to DCEU
ตอนนี้ DCEU มีหนังที่อยู่ในแผนการมากมาย ทั้งที่กำลังจะเข้าฉาย กำลังถ่ายทำ อยู่ระหว่างการเตรียมงาน ไปจนถึงหลายเรื่องที่มีข่าวว่าอาจจะสร้าง และหากคุณอยากลองเยี่ยมชมจักรวาลแห่งนี้ นี่คือรายชื่อหนังในแผนการทั้งหมด
Man of Steel (2013)… หนังยกเครื่องใหม่ให้กับ Superman และเป็นจุดเริ่มต้นของโปรเจค DCEU และยังมีสถานะเป็นหนังที่เซ็ตโทนหนังที่ออกมาในสไตล์ Dark แต่มีความ Surreal บวกด้วยความ Nerd แบบ Comics อยู่ (The Dark Knight Trilogy จะเป็นแนว Dark แบบสมจริง)
Batman v Superman: Dawn of Justice (2016)… เหตุการณ์สืบเนื่องจาก Man of Steel เมื่อ Batman เห็นว่าพลังที่ไร้การควบคุมของ Superman อาจส่งผลร้ายต่อโลกได้ หนังเรื่องนี้ยังถูกวางให้เป็นหมากที่จะเปิดประตูสู่ Justice League โดยในหนังยังมี Wonder Woman, The Flash, Cybrog และ Aquaman เป็นแขกรับเชิญ
Suicide Squad (2016)… เรื่องราวช่วงรอยต่อระหว่าง Man of Steel กับ BvS เมื่อรัฐบาลมอบหมายภารกิจลับให้เหล่าวายร้ายไปดำเนินการ เพื่อแลกกับอิสรภาพ
Wonder Woman (2017)… หนังเดี่ยวครั้งแรกของ Wonder Woman ซึ่งจะดำเนินเรื่องใน 3 ยุค 3 สมัย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
Justice League Part One (2017)… การรวมตัวกันครั้งแรกบนจอหนังของทีม Justice League อย่างไรก็ตาม ใน Part นี้มีข่าวว่า สมาชิกอาจจะยังมาไม่ครบทุกคน โดยยังขาด Green Lanteran ขณะที่เนื้อหาหลักของเรื่องก็ยังไม่มีการเปิดเผย ตอนนี้หนังอยู่ในช่วงเตรียมเปิดกล้องเมษายนนี้
The Flash (2018)… เรื่องราวของซุปเปอร์ฮีโร่ที่มีความเร็วดุจสายฟ้า Eza ผู้รับบท The Flash ในเวอร์ชั่นหนัง บอกว่า The Flash ของเขาจะมีความแตกต่างจาก The Flash เวอร์ชั่นซีรี่ส์ แต่ก็คาดหวังว่าสักวันคงมีโอกาสได้วิ่งแข่งกัน หนังอยู่ระหว่างเตรีมงานสร้าง โดยมี “Seth Grahame-Smith” รับหน้าที่กำกับ
Aquaman (2018)… ราชาแห่งแอตแลนติส หนังได้ “Jason Momoa” จาก Game of Throne มารับบท Aquaman และยังได้ “James Wan” จาก The Conjuring และ Furious 7 มารับหน้าที่กำกับ หนังอยู่ระหว่างเตรียมงานสร้าง
Shazam (2019)… เรื่องราวของเด็กที่ได้รับพลังจากเทพ ยังไม่มีความคืบหน้าเกี่ยวกับโปรเจคนี้มากนัก มีเพียงข่าวบอกว่า Shazam จะยังไม่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับ Justice League และหนังได้ “Dwayne Johnson” มารับบท Black Adam ศัตรูคู่แค้นของ Shazam
Justice League Part Two (2019)… การรวมตัวอีกครั้งของ Justice League และครั้งนี้มาแบบครบทีม โดย Green Lantern จะเข้ามามีบทในภาคนี้ด้วย
Cyborg (2020)… ซุปเปอร์ฮีโร่ครึ่งคนครึ่งหุ่นยนต์ หนึ่งในสมาชิก Justice League หนังได้ “Ray Fisher” มารับบท และมีการคาดกันว่าหนังอาจมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับทีม Teen Titan ซึ่งเป็นทีมรวมซุปเปอร์ฮีโร่รุ่นเด็กของ DC เนื่องจากใน Comics Cyborg โด่งดังจากทีมนี้มาก่อน (Robin ก็อยู่ในทีมนี้เช่นกัน)
Green Lantern Corps (2020)… หน่วยตำรวจจักรวาลแห่ง DC แม้ Green Lantern เวอร์ชั่นแรกจะไม่ประสบความสำเร็จนัก แต่ DC ก็ขอนำตัวละครนี้กลับมาอีกครั้ง และครั้งนี้อาจไม่ได้มาแค่คนเดียว แต่มาเป็นทีมเลย
นอกเหนือจากนี้ยังมีโปรเจคอีกหลายเรื่องที่มีข่าวว่ากำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา
Batman… หนังเดี่ยวของ Batman ซึ่งมีข่าวว่า Ben Affleck จะรับหน้าที่กำกับด้วยตัวเอง และอาจไม่ใช่แค่ภาคเดียว ยังมีข่าวลือว่าหนังอาจใช้เนื้อเรื่อง Under the Red Hood จาก Comics มาเป็นเนื้อเรื่องหลัก ซึ่งทำให้เราอาจได้เห็น Robin มากกว่า 1 คนในหนังเรื่องนี้
Man of Steel 2… เพราะ BvS ไม่ใช่ Man of Steel 2 Warner จึงมีแผนที่จะสร้างหนังเดี่ยวของ Superman อีกภาค มีข่าวลือว่า Georg Miller อาจมากำกับ แต่ลุง Georg ก็ได้ปฎิเสธไป
Justice League Dark… หนังรวมทีมซุปเปอร์ฮีโร่สายเวทย์มนตร์และผีสาง “Guillermo del Toro” ผู้กำกับจาก “Hell Boy” และ “Pacific Rim” เป็นคนพัฒนาโปรเจคนี้มาตั้งแต่ปี 2013 แม้ตอนนี้ Guillermo จะถอนตัวไปแล้ว แต่ Warner ก็ต้องการผลักดันโปรเจคนี้ต่อ หนังอยู่ระหว่างการหาตัวผู้กำกับ โดยอาจใช้บทที่ Guillermo เขียนไว้ สำหรับสมาชิกหลักก็ เช่น Constantine, The Spectre, Deadman และอาจเพิ่ม Enchantress เพื่อเชื่อมเรื่องราวเข้ากับ Suicide Squad
Birds of Prey… หนังรวมทีมซุปเปอร์ฮีโร่หญิงของ DC โดยมีข่าวว่าพวกเขาจะแนะนำสมาชิกทีมบางคน เช่น Batgirl Black Canary ก่อนใน Justice League ก่อนจะสร้างหนังของทีมนี้ต่อไปในอนาคต
Booster Gold/ Blue Beetle… ซุปเปอร์ฮีโร่คู่หูคู่ฮาแห่งโลก DC โดย Warner มอบหมายให้ Greg Berlanti ผู้อยู่เบื้องหลังซีรี่ส์ Arrow และ The Flash มาทำหน้าที่กำกับและอำนวยการสร้าง แต่ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าไปมากกว่านั้น
Suicide Squad 2… หาก Suicide Squad ประสบความสำเร็จ เราอาจมีโอกาสได้เห็นภาคต่อของหนังเรื่องนี้ แต่อาจมีสมาชิกทีมที่เปลี่ยนไป ซึ่งก็เป็นไปได้สูง เพราะ DC ยังมีวายร้ายหลายตัวที่น่าสนใจ โดยเฉพาะวายร้ายที่ได้ชื่อว่าเป็นนักฆ่าอันดับหนึ่งแห่ง DC “Deathstroke”
PART 3: DC TV UNIVERSE
ในขณะที่ฝั่ง DCEU อาจจะลุ่มๆ ดอนๆ บ้าง กว่าจะตั้งหลักได้ แต่ทางฝั่ง DC TV Universe ดูจะมีเส้นทางที่ราบรื่นกว่า จนนำหน้าฝั่ง Movie ไปด้วยซ้ำ และความนิยมของซีรีส์จาก DC นี่เอง เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ Warner เลือกจะแยกจักรวาลหนังกับซีรีส์ออกจากกัน เพราะ DCEU เกิดหลัง DCTV และคงไม่มีเป็นการดีนัก หากจะชะลอฝั่ง TV ให้ช้าลงเพื่อรอ Movie ทั้งที่สามารถวิ่งควบคู่ไปด้วยกันได้
ซีรี่ส์เรื่องแรกที่สร้างจากตัวละครของ DC ก็คือ “Adventures of Superman” ออกฉายระหว่างปี 1952-1958 ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม และหลังจากนั้นก็มีอีกหลายเรื่อง ที่โด่งดังก็เช่น Batman (1966-1968), Wonder Woman (1975-1979), Superboy (1988-1992), Lois & Clark: The New Adventures of Superman (1993-1997) โดยซีรี่ส์ในอดีตส่วนใหญ่มักทำออกมาในแนวตลกขบขัน กระทั่ง Batman ก็ยังตลก และมักใช้ทุกสร้างไม่มากนัก ซึ่งถ้ามองด้วยสายตาจากปัจจุบัน ซีรี่ส์เหล่านี้คงไม่ซีรี่ส์ที่ดูมีคุณภาพนัก แต่สำหรับในสมัยนั้นมันช่วยสร้างฐานแฟนคลับเด็กๆ ได้พอควร ทั้งนี้ ในจำนวนซีรี่ส์ทั้งหมด Superman ดูจะเป็นคนที่ได้รับโอกาสออกจอบ่อยสุด และมาพีคสุดในมหากาพย์ซีรี่ส์ Superman วัยหนุ่ม ที่ลากยาวเป็น 10 ปี อย่าง “Smallville” (2001-2011)
Smallville
Smallville เล่าเรื่องราวของ Clark Kent ในช่วงวัยรุ่น ก่อนที่จะเป็น Superman เนือหาจะเน้นไปที่การเรียนรู้ที่จะเป็นซุปเปอร์ฮีโร่ของ Clark “Tom Welling” ผู้สวมบท Clark กลายเป็นผู้ที่รับบท Superman เป็นเวลานานที่สุด แต่ขณะเดียวกันเขากลับไม่มีโอกาสได้สวมชุด Superman แบบเต็มๆ เลยในซีรี่ส์ ด้วยเนื้อหาที่แปลกใหม่และดูจริงจังมากขึ้น ผิดกับซีรี่ส์ของ DC ในยุคก่อนๆ ทำให้ Smallville ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม กลายเป็นซีรี่ส์เชิดหน้าชูตาให้กับช่อง The WB ที่ Warner เป็นเจ้าของ ตอนหลังแม้ช่อง The WB จะโดนยุบ และ Smallville ย้ายมาออกอากาศที่ช่อง The CW (ช่องร่วมทุนระหว่าง Warner และ CBS) แต่ก็ยังได้รับความนิยมอยู่
Smallville
จุดที่น่าสนใจคือ เมื่อฉายไปเรื่อยๆ Smallville เริ่มขยายเนื้อหาจากแค่ตัว Clark อย่างเดียว (พูดแบบชาวบ้านๆ ก็คือเริ่มออกทะเล) ไปเป็นพบกับเหล่าร้ายและซุปเปอร์ฮีโร่คนอื่นๆ มากขึ้น (แม้ในขณะนั้นจะยังไม่ได้เป็นซุปเปอร์ฮีโร่เต็มตัวก็ตาม) “Green Arrow” วัยหนุ่ม กลายเป็นแขกรับเชิญที่ปรากฎตัวในหลายตอน และใน Season 6 ก็มีการรวมตัวของ “ว่าที่ Justice League” ในอนาคต โดยสมาชิกทีมในขณะนั้นนอกจาก Clark แล้วยังมี Oliver Queen (Green Arrow), Arthur Curry (Aquaman), Victor Stone (Cyborg) และ Bart Allen (Impulse) แม้จะยังไม่ถือว่าเป็น Justice League อย่างเป็นทางการ เพราะ Justice League จริงๆ เกิดขึ้นหลังจาก Clark เป็น Superman แล้ว แต่นี่ก็ถือเป็นการรวมตัวครั้งแรกในรูปแบบ Live Action ของ Jusitce League ขณะที่ในช่วงนั้น (2006) แผนการ Justice League ในเวอร์ชั่นหนัง ยังไม่คืบหน้าไปไหน
Arrow
ปี 2011 Smallville จบลง หลังจากฉายมา 10 Season เพื่อสานต่อความสำเร็จ Warner และ DC จำเป็นต้องหาวัตถุดิบมาสร้างเป็นเรื่องใหม่ต่อ และพวกเขาเลือก Green Arrow ส่วนหนึ่งอาจเพราะตอน Smallville ตัวละครนี้ก็ได้รับความนิยมไม่น้อย อย่างไรก็ตาม ทีมผู้สร้างที่นำโดย “Greg Berlanti” (ซึ่งต่อไปจะกลายเป็นคนสำคัญของ DCTV ในปัจจุบัน) ตัดสินใจจะแยกเรื่องราวออกจาก Smallville และสร้าง Green Arrow ในแบบฉบับของตัวเองขึ้นมาภายใต้ชื่อ “Arrow” โดยได้ “Stepen Amell” มารับบทนำ ออกฉายเมื่อปี 2012 ทางช่อง The CW
ชื่อ “Greg Berlanti” อาจเป็นชื่อที่เป็นทั้งที่รักและชังของแฟน DC เพราะแม้ปัจจุบันเราอาจรู้จักเขาในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของซีรี่ส์จากตัวละคร DC หลายเรื่อง แต่ย้อนไปไม่นาน Greg Berlanti คือผู้อำนวยการสร้างหนัง Green Lanteran (2011) เวอร์ชั่นที่ไม่ค่อยเป็นที่ประทับใจของคนดู นักวิจารณ์ และค่ายหนังนัก แต่เขาก็รับโอกาสจาก Warner อีกครั้ง และก็ค้นพบว่า บางทีพื้นที่ที่เหมาะกับเขาที่สุดคือ ซีรี่ส์ ไม่ใช่ ภาพยนตร์ (ปี 2015 Greg กลับมาคุมงานหนังอีกครั้งกับเรื่อง Pan ซึ่งก็เจ๊งไปอีกเช่นกัน)
Gerg Berlanti ผู้อยู่เบื้องหลังซีรี่ส์ DC หลายเรื่อง
“Arrow” เล่าเรื่องของ Oliver Queen ในวัยหนุ่ม ่ในช่วงที่เปลี่ยนจากเพล์บอยมาเป็นซุปเปอร์ฮีโร่มือธนู (ใน Comics Green Arrow เป็นซุปเปอร์ฮีโร่สูงวัย) เนื่องจากเป็นซุปเปอร์ฮีโร่ที่ไม่มีพลังวิเศษ (แต่มีพลังขี้หลีเป็นอันดับ 1) ทำให้ซีรี่ส์เลือกใช้วิธีการเล่าเรื่องในแนวทางสมจริง มีความ Dark ในแบบที่ซีรี่ส์ของ DC เรื่องก่อนๆ ไม่เคยทำ ซึ่งแนวทางนี้ได้รับอิทธิพลสำคัญจากความสำเร็จของหนัง “The Dark Knight” และแนวนี้ก็ทำให้ Arrow ประสบความสำเร็จอย่างมาก แม้ว่าใน season หลังๆ Arrow จะเริ่มลดระดับความ Dark ลง ใส่เรื่องเหนือธรรมชาติมากขึ้น และใช้องค์ประกอบของ Batman มากจนคนเริ่มสงสัยว่านี่ Green Arrow หรือ Batman เวอร์ชั่นถือธนูกันแน่
The Flash
ความสำเร็จของ Arrow ทำให้ใน season 2 (2013-2014) Arrow วางแผนจะขยายจักรวาลไปอีกขั้น ด้วยการแนะนำตัวละคร “Barry Allen” ในซีรี่ส์ และในตอนที่ 9 ของซีซั่น 2 Barry ก็โดนอุบัติเหตุฟ้าผ่า ที่คอ Comics รู้กันดีว่านี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ Barry กลายเป็น “The Flash” กระแสตอบรับการมาของ Barry เป็นไปด้วยดี Gerg และทีมงาน เลยเริ่มเดินหน้าทำตอน Pilot ซีรีส์เดี่ยวของ The Flash เสนอต่อช่อง The CW ซึ่งก็ได้รับการอนุมัติให้สร้างในเวลาไม่นาน แม้ในตอนแรกแฟนๆ จะยังกังวลว่าจะออกมาดีมั้ย โดยเฉพาะเมื่อมาอยู่ในช่อง The CW ที่เป็นช่องเล็ก งบค่อนข้างน้อย แต่ The Flash นั้นต้องพึ่งพา CG เยอะ และช่วงต้นปี 2014 Warner ก็ออกมาประกาศว่าจะทำหนัง The Flash ด้วย แต่ใช้คนแสดงคนละคนกัน แต่เพียงแค่ซีซั่นแรก The Flash ก็กลายมาเป็นซีรี่ส์เรตติ้งอันดับ 1 ของช่อง และในบางตอนเรตติ้งพุ่งแซงช่องอื่นที่มีฐานคนดูมากกว่าเสียอีก
The Flash
โทนของ The Flash นั้นมาในสไตล์ที่แตกต่างจาก DCEU หรือกระทั่ง Arrow season แรกๆ ด้วยการเป็นซีรี่ส์แนวสดใส เรื่องดราม่าตัวละครจึงไม่ค่อยเด่นนัก แต่สิ่งเหล่านี้ก็ถูกทดแทนได้ด้วยการผูกเรื่องที่น่าสนใจ การหยอดปริศนาเกี่ยวกับวายร้ายหลักในแต่ละตอน ทำให้เราอยากติดตามตอนต่อไปอยู่เรื่อยๆ ขณะที่ตัว The Flash นั้น แม้เหมือนจะมีพลังเยอะ แต่เอาเข้าจริงด้วย Skill คนดีระดับ Max เลยกลายเป็นซุปเปอร์ฮีโร่ที่โดนวายร้ายยำอยู่บ่อยครั้ง ยิ่ง season 2 นี่ ออกมาให้โดนยำ และนั่งตัดพ้อตัวเองว่าทำไมสู้ไม่ได้ตลอด 555 อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นจุดเด่นของ The Flash ก็คือ การใส่องค์ประกอบจาก Comics เข้าไปเยอะมาก นั่นทำให้ซีรี่ส์ค่อนข้างได้ใจเหล่าคอ Comics ไม่น้อย ซึ่งส่วนหนึ่งที่เป็นเช่นนี้ เพราะหนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังซีรี่ส์นี้ก็คือ “Geoff Jones” ที่ควบตำแหน่งประธานฝ่ายครีเอทีฟของ DC Comics การเอาใจคอ Comics ยังกลายเป็นแนวทางหลักที่ทั้ง DCTV และ DCEU ในเวลาต่อมา
DC Series
ช่วงที่ The Flash ได้รับอนุมัติให้สร้างนั้นคือปี 2013 ซึ่งถ้ายังจำกันได้ ปีนี้คือปีที่ Kevin Tsujihara เข้ามารับตำแหน่ง CEO ใหญ่ของ Warner และเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในค่าย มีการผลักดันให้ DC กลายเป็นความสำคัญแรกสุดของบริษัท ฝั่ง DCEU มีการเตรียมสร้างหนังมากมาย โดยเฉพาะ Batman v Superman: Dawn of Justice ขณะที่ฝั่ง DCTV ปี 2013-2014 ยังเป็นปีที่มีการผลักดันซีรี่ส์จากฝั่ง DC ออกมาอย่างมากมาย หลากช่อง หลากหลายแนว ทั้งที่อยู่ในจักรวาลเดียวกันกับ The Flash (ที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าจักรวาล Arrowverse) และซีรี่ส์ที่อยู่ในจักรวาลอื่น
ปัจจุบัน DCTV มีทั้งซีรี่ส์แนวซุปเปอร์ฮีโร่อย่าง Arrow, The Flash, Supergirl, DC’s Legend of Tomorrow ซีรี่ส์แนวต้นกำเนิด Batman อย่าง Gotham และที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือความพยายามนการผลักดันตัวละครจากค่าย Vertigo ค่ายลูกของ DC ให้มีซีรี่ส์ของตัวเอง โดยส่วนใหญ่มักเป็นแนวสิ่งลี้ลับอย่าง Constantine, iZombie, Lucifer แม้ Constantine จะเรตติ้งต่ำจนโดน cancel ไป แต่ก็มีกลุ่มที่ชื่นชอบอยู่ และตอนหลัง Arrow ก็ดึงตัวละคร Constantine มาอยู่ในจักรวาลตัวเอง ซึ่งไม่แน่ว่าในอนาคต Constantine อาจจะกลับมาอีกก็ได้
Gotham
DC ยังไม่หยุดในการผลักดันตัวละครในค่าย ยังมีซีรี่ส์อีกหลายเรื่องที่มีแผนจะสร้าง ทั้งของค่ายหลักและของ Vertigo และอย่างที่เคยว่าไว้ ซีรี่ส์ DC ปัจจุบันค่อนข้างให้ความสำคัญกับ Comics โดยที่ Geoff Jonhs ยังยืนยันด้วยตัวเองว่า DC มีแผนจะผลักดันตัวละครใน Comics ให้เป็นที่รู้จักมากที่สุด โดยเฉพาะตัวละครใหม่ๆ หลากหลาย Eater Egg ที่ใส่ลงไปในซีรี่ส์ ส่วนหนึ่งก็เพื่อเปิดทางและจุดประกายให้คนอยากรู้จักตัวละครเหล่านั้นมากขึ้น ซึ่งก็ไม่แน่ว่าในอนาคตอาจมีคนสนใจอยากนำตัวละครนั้นไปสร้างเป็นซีรี่ส์เดี่ยวจริงๆ [18]
ความเห็นส่วนตัวคือ ถึงแม้จักรวาลซีรี่ส์จะไม่เชื่อมต่อกับจักรวาลหนัง (ในขณะนี้) แต่มันกลับส่งเสริมซึ่งกันและกัน และช่วยยกระดับการเป็นที่รู้จักของ DC ในภาพรวมได้ แนวทางนี้แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับ DC ในอดีต ที่เลือกทำซีรี่ส์หรือหนังเฉพาะตัวละครดังๆ เท่านั้น
Multiverse
DCTV เดินทางมาถึงจุดสำคัญอีกครั้งในปี 2015 เมื่อ The Flash SS2 ได้เริ่มแนะนำให้เรารู้จักกับสิ่งที่เรียกว่า “Multiverse” มีเรื่องของการเดินทางข้ามจักรวาล มีเรื่องของตัวละครต่างจักรวาลที่ถึงจะมีหน้าตาเหมือนกันแต่มีนิสัยไม่เหมือนกัน หรือบางทีก็เป็นคนละคนไปเลย เช่น The Flash ของโลกหลักคือ Barry Allen แต่อีกโลกหนึ่งกับเป็น Jay Garrick แนวคิดที่ใส่เข้ามานี้ ไม่ได้ใช้แค่เฉพาะใน The Flash เท่านั้น แต่สามารถใช้ได้กับทั้ง DCTV DCEU รวมถึงพวกหนัง/ซีรี่ส์ที่สร้างตัวละคร DC ทั้งหลายแหล่
ก้าวสำคัญของ Multiverse ของ DC กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 28 มีนาคม 2559 ไม่กี่วันหลังการฉายของ BvS เมื่อ Supergirl จะทำการ Crossover กับ The Flash โดยใช้ประเด็นเรื่อง Multiverse เชื่อมให้ทั้ง 2 เรื่องมาเจอกัน ที่บอกว่าสำคัญก็เพราะนี่ไม่ใช่แค่การข้ามจักรวาลภายในเรื่องเดียวกัน หรือเป็นการ Crossover ภายในช่องเดียวกัน แบบที่ Arrow กับ The Flash เคยทำร่วมกัน หากแต่เป็นการข้ามช่อง ข้ามจักรวาล (Supergirl ฉายที่ช่อง CBS และวางให้เป็นคนละจักรวาลกับ Arrowverse) แม้ว่าการที่ The Flash สามารถข้ามไปหา Supergirl ได้ ส่วนหนึ่งจะเพราะมีทีมสร้างทีมเดียวกัน และช่อง CBS เป็นช่องแม่ของ CW แต่ก็เป็นการเริ่มต้นที่ดี ในอนาคตเราอาจเห็นการข้ามจักรวาลไปยังช่องอื่นๆ หรือกระทั่งข้ามไปเจอ DCEU เลยก็ได้…ไม่มีใครบอกว่าจะเป็นไปไม่ได้นิ
โปสเตอร์โปรโมท Supergirl ตอนที่จะมี The Flash ข้ามจักรวาลมารับเชิญ
Welcome to DCTV
สำหรับคนที่อยากเริ่มตามซีรี่ส์ของ DCTV ตอนนี้มีซีรี่ส์ DC ด้วยกันหลายเรื่อง แต่ถ้าแบ่งเป็นจักรวาลๆ ก็จะได้ประมาณนี้
Arrowverse เป็นจักรวาลที่มีจุดเริ่มต้นจากซีรี่ส์ Arrow หลายเรื่องในจักรวาลมีเนื้อหาที่โยงถึงกัน รวมถึงมีการ Crossover ด้วยกันบ่อย โดยมีซีรี่ส์คือ
Arrow (2012-ปัจจุบัน)… เรื่องราวความเป็นมาของซุปเปอร์ฮีโร่มือธนู “Green Arrow” โทนเรื่องออกแนวจริงจัง Dark หน่อยๆ (แต่หลังๆ เริ่มสดใสแล้ว) ปัจจุบันฉายถึง SS4 ทางช่อง The CW
The Flash (2014-ปัจจุบัน)… ซุปเปอร์ฮีโร่ที่มักบอกว่าตัวเองเร็วที่สุด (แต่ตัวร้ายเร็วกว่า และอัดพระเอกได้ตลอด) เป็นซีรี่ส์ที่เรตติ้งที่ได้รับความนิยมสุดของของ DCTV ตัว The Flash เป็นเพื่อนกับ Arrow และมักไปขอคำปรึกษา Arrow อยู่บ่อยๆ ปัจจุบันฉายถึง SS2 ทางช่อง The CW
Vixen (2015-ปัจจุบัน)…แอนิเมชั่นขนาดสั้น ตัวเอกเป็นหญิงสาวที่สามารถเรียกความสามารถของสัตว์มาใช้ได้ ล่าสุด Vixen ได้ไปโผล่ใน Arrow ในรูปแบบคนแสดงจริง ซึ่งคนที่มารับบทก็คือคนที่พากย์เสียง Vixen ในแอนิเมชั่นนั่นแหละ ปัจจุบันเพิ่งฉายไป 1 season ทางเว็บไซต์ The CW Seed
DC’s Legend of Tomorrow (2016-ปัจจุบัน)… ซีรี่ส์แนวรวมซุปเปอร์ฮีโร่ โดยรวบรวมตัวละครรองๆ จาก Arrow และ The Flash มาปฏิบัติการเดินทางข้ามเวลาในภารกิจช่วยเหลือมนุษยชาติ ในซีรี่ส์เรื่องนี้มีตอนหนึ่งที่เราจะได้เห็น Green Arrow เวอร์ชั่นสูงวัยตาม Comics ด้วย ตอนนี้กำลังฉาย SS1 ทางช่อง The CW
Constantine (2014-2015)… เรื่องราวของ John Constantine มือปราบวิญญาณกวนตีน ที่ต้องกลับมาปฏิบัติภารกิจอีกครั้ง หลังเลิกราไปนาน เดิมเรื่องนี้ฉายทางช่อง NBC แต่เรตติ้งไม่ดีนัก จนโดน cancel ไปหลังฉายได้เพียง 13 ตอน อย่างไรก็ตาม ตอนหลัง John ได้มารับเชิญใน Arrow SS4 เป็นการยืนยันว่าทั้ง 2 เรื่องนั้นอยู่ในจักรวาลเดียวกัน และในอนาคตมีข่าวว่า John อาจได้กลับมาอีกครั้งในฐานะสมาชิกของ DC’s Legend of Tomorrow
ข้างต้นเป็นซีรี่ส์ที่อยู่ใน Arrowverse ในขณะเรื่องอื่นๆ จะมีจักรวาลของตัวเอง ได้แก่
Supergirl (2015-ปัจจุบัน)… ญาติของ Superman ที่อยากใช้ชีวิตฮีโร่ในฐานะ Supergirl แต่การเป็นซุปเปอร์ฮีโร่หญิงนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งเมื่อมักต้องโดนเปรียบเทียบกับ Superman อยู่ตลอดเวลา ซีรี่ส์เอาองค์ประกอบของ Superman มาใช้เยอะเหมือนกัน (เกือบจะคล้ายๆ ที่ Arrow ใช้องค์ประกอบของ Batman) แนวเรื่องจะค่อนข้างสดใสสไตล์ Superman เวอร์ชั่น Christopher Reeve แรกๆ อาจน่าเบื่อหน่อย แต่หลังๆ พัฒนาขึ้นมากทีเดียว ปัจจุบันกำลังฉาย SS1 ทางช่อง CBS แม้จะเป็นคนละจักรวาลกับ The Flash แต่จะมีการข้างจักรวาลมาเจอกันเร็วๆ นี้
Gotham (2014-ปัจจุบัน)… เรื่องราวของ Bruce Wayne วัยเด็กก่อนที่จะเป็น Batman และการทำงานของ Jim Gordon ในวัยหนุ่ม ตัวซีรี่ส์ยังพาไปรู้จักกับต้นกำเนิดของเหล่าร้ายหลายคนใน Batman ซึ่งตอนหลังเรื่องของวายร้ายก็กลายมาเป็นประเด็นหลักของเรื่องแทน ซีรี่ส์ยังมีจุดเด่นตรงการแสดงของเหล่าร้ายที่มักมีอะไรให้ทึ่ง ให้ประทับใจเสมอ และยังเป็นซีรี่ส์ DCTV ที่มีโทนเรื่องใกล้เคียงกับ DCEU มากที่สุดตอนนี้ ปัจจุบันฉายถึง SS2 ทางช่อง FOX
iZombie (2015-ปัจจุบัน)…สร้างจากตัวละครของ Vertigo เกี่ยวกับซอมบี้สาวที่มีความสามารถรับรู้ความทรงจำของคนอื่น ผ่านการกินสมองของพวกเขา และเธอก็ใช้ความสามารถนี้มาช่วยงานสืบสวนของตำรวจ ปัจจุบันฉายถึง SS2 ทางช่อง The CW
Lucifer (2016-ปัจจุบัน)… สร้างจากตัวละครของ Vertigo เล่าเรื่องของ Lucifer ที่เกิดเบื่อนรก และมาใช้ชีวิตบนโลกมนุษย์แทน เพิ่งออกอากาศ season แรกไปได้ไม่นาน ทางช่อง FOX
Peacher (2016)… อีกหนึ่งตัวละครจาก Vertigo เมื่อบาทหลวงและแวมไพรส์จับคู่เดินทางด้วยกันในภารกิจตามหาพระเจ้าที่อยู่ๆ ก็หายไป ซีรี่ส์มีคิวจะฉายพฤษภาคมนี้ ทางช่อง AMC ความน่าสนใจคือ Seth Rogen ดาราดัง มาเป็นผู้อำนวยการสร้างให้ซีรี่ส์เรื่องนี้ด้วย
นอกเหนือจากซีรี่ส์ข้างต้น ยังมีซีรี่ส์ของ DCTV อีกหลายเรื่องที่อยู่ในระหว่างการวางแผน ได้แก่
Powerless… เรื่องของบริษัทประกันภัยในโลกซุปเปอร์ฮีโร่ กำลังอยู่ในช่วงทำตอน Pilot เสนอกับช่อง NBC
Scalped…แนวอาชญากรรมสืบสวนสอบสวน ที่มีตัวละครเป็นชาวอเมริกันพื้นเมือง (อินเดียนแดง) กำลังอยู่ในช่วงทำตอน Pilot เสนอกับช่อง WGN America
Kypton…เรื่องราว 200 ปีก่อนเกิดเหตุการณ์ใน Man of Steel มี David S. Goyer ผู้เขียนบท Man of Steel เป็นผู้พัฒนาโปรเจค หากสำเร็จจะเป็นซีรี่ส์เรื่องแรกที่อยู่ในจักรวาล DCEU โดยมีแผนจะออกฉายทางช่อง Syfy
Watchmen…หนึ่งในงานสร้างชื่อของ Zack Snyder ซึ่งมีข่าวว่าเขากำลังอยู่ระหว่างพัฒนามันให้เป็นซีรี่ส์ทางช่อง HBO แต่ยังไม่มีรายละเอียดว่าจะทำออกมาในลักษณะใด
Teen Titans…อีกหนึ่งซีรี่ส์ที่ DC พยายามผลักดัน เดิมมีแผนการจะสร้างลงช่อง TNT โดยจะให้ Nightwing หรือ Robin คนแรกเป็นตัวนำ โปรเจคพัฒนาอยู่หลายปีแต่ก็ไม่สำเร็จสักที จนกระทั่ง TNT สั่งยุติแผนการสร้างซีรี่ส์เรื่องนี้ แต่ DC ก็ออกมาบอกว่า พวกเขายังไม่ล้มเลิกความพยายามหรอกนะ
PART 4: SUMMARY
จักรวาลหนัง DCEU และจักรวาลซีรี่ส์ DCTV จะรวมกันเมื่อไหร่ ยังไม่มีใครรู้ ถึงที่สุดแล้วมันอาจไม่รวมก็ได้ แต่ที่แน่ๆ มันมีช่องเปิดให้สามารถข้ามจักรวาลได้อยู่ ผ่านเรื่องของ Multiverse ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจหาก DC จะเลือกเส้นทางนี้จริงๆ เพราะ Multiverse ของ DC ค่อนข้างเด่นมาตั้งแต่ตอน Comics แล้ว
“คุณอย่าเพิ่งบอกว่ามันจะไม่เกิดขึ้น บางทีวันหนึ่ง เมื่อทุกอย่างพร้อมและสมเหตุสมผล เราอาจเชื่อมพวกเขาเข้าด้วยกัน แต่ ณ ตอนนี้ให้แต่ละส่วนทำหน้าที่ของตนให้เต็มที่และอยู่ได้ด้วยตัวเอง” นี่คือคำกล่าวของ Geoff Johns หนึ่งในผู้บริหาร DC [19] ที่สะท้อนว่าถึง Multiverse ระหว่างหนังกับซีรี่ส์อาจไม่ใช่ในเร็วๆ นี้แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้
Geoff Johns ประธานฝ่ายครีเอทีฟของ DC และผู้อยู่เบื้องหลังซีรี่ส์ DC หลายเรื่อง
ข้อได้เปรียบอย่างหนึ่งคือถึงแม้ DC จะแยกจักรวาลออกจากกัน แต่ในแง่การบริหารแล้ว สุดท้ายก็ไปจบที่ Kevin นั่นทำให้สามารถกำหนดทิศทางภาพรวมให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันได้ ยิ่งถ้าดูการโปรโมตที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีการส่งเสริมกันไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการให้นักแสดงจาก Gotham มาพูดถึง Batman v Superman หรือการจัดทำรายการพิเศษเกี่ยวกับ DCEU ออกอากาศหลัง The Flash
แต่ก่อนจะไปถึงวันนั้น หวังว่าบทความนี้จะทำให้คุณรู้จักพหุจักรวาล DC มากยิ่งขึ้น หลังผ่านการล้มลุกคลุกคลานหลายครั้ง ตอนนี้ DC พร้อมแล้วที่จะให้คุณมาเยี่ยมชมจักรวาลของพวกเขา
Related
- การรักษา Lockjaw - 01/24/2024
- อาการบาดทะยักคืออะไร? - 04/26/2023
- วิธีรักษาซิฟิลิส - 04/24/2023