[Criticism] สิ้นแสงฉาน – บทบาทไทยในการเมืองอาเซียน
ในขณะที่สภาพการเมืองของพม่าเริ่มมีท่าทีเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น หลังจากตกอยู่ภายใต้การปกครองของเผด็จการทหารเป็นเวลานาน แต่ภายใต้ความหวังนั้น ได้เผยให้เห็นอีกปัญหาหนึ่งพม่าที่ฝังรากลึกมานาน นั่นก็คือ “อคติทางชาติพันธุ์” ที่เริ่มเด่นชัดมากขึ้นเรื่อยๆ จากกรณีของ “โรฮิงญา” เรื่อยมาล่าสุดถึงการแบน “สิ้นแสงฉาน” (Twilight over Burma) ในพม่า เพราะกังวลว่าจะกระทบต่อกระบวนการปรองดองในประเทศ สิ่งเหล่านี้เริ่มทำให้บางคนเริมกลับมาตั้งคำถามต่อบทบาทของ “อองซานซูจี” ผู้ที่เป็นสัญลักษณ์ทางประชาธิปไตยของพม่า ว่าเอาเข้าจริงแล้ว อองซานซูจีต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของพม่า หรือแค่ “คนพม่า” เท่านั้น
“สิ้นแสงฉาน” เป็นเรื่องราวเชิงอัตชีวประวัติของ “อิงเง ซาเจน” (Maria Ehrich) สาวน้อยจากออสเตรีย ที่เดินทางไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา และได้พบรักกับ “จาแสง” จนแต่งงานกัน ก่อนจะพบความจริงภายหลังว่า จาแสงของเธอคือ เจ้าฟ้าจาแสง แห่งแคว้นสีป้อ ในรัฐฉาน ประเทศพม่า ชีวิตของอิงเงเริ่มต้นจากเทพนิยาย จากหญิงสามัญชน ได้กลายเป็นมหาเทวีของดินแดนแห่งหนึ่ง แต่ทุกอย่างก็จบลง เมื่อ “นายพลเนวิน” ได้เข้ายึดอำนาจการปกครอง เริ่มต้นระบอบเผด็จการทหารอันยาวนานในพม่า ซึ่งรวมไปถึงการดับความหวังของบรรดารัฐชาติพันธุ์อื่นๆ นอกเหนือจากพม่า ที่จะอยู่อย่างสงบสุขและเป็นเอกราช
ด้วยความที่ “สิ้นแสงฉาน” เวอร์ชั่นนี้ เป็นหนังที่สร้างขึ้นเพื่อฉายทางโทรทัศน์ในออสเตรีย (บ้านเกิดของอิงเง) ทุนก็เลยไม่สูงนัก โปรดักส์ชั่นจึงออกมาเท่าที่พอจะทำได้ จนทำให้หลายๆ ฉากดูตลกๆ ไปบ้าง เช่นพวกฉากยึดอำนาจยังไม่ดูเป็นภัยคุกคามเท่าไหร่นัก อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับข้อจำกัดด้านทุนสร้างแล้ว ถือว่า “สิ้นแสงฉาน” ยังค่อนข้างดูดีกว่า “Grace of Monaco” ที่เป็นแนวหญิงสามัญชนกับเจ้าชายเหมือนกัน ซึ่งเรื่องหลังแม้โปรดักส์ชั่นจะเลิศหรูกว่ามาก แต่ก็ติดความน่าเบื่อมากเช่นกัน
ในส่วนของการเดินเรื่อง สิ้นแสงฉานนั้นมีมีความเรื่อยๆ ซึ่งเข้าใจว่าคงเพราะไม่ได้ตั้งใจทำมาฉายโรงโดยตรงอยู่แล้ว ขณะที่เนื้อหาก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไร คำอธิบายทางการเมืองก็เป็นไปอย่างง่ายๆ อย่างกรณีของเจ้าจ่าแสงที่หนังทำให้เป็นกษัตริย์ในอุดมคติ หัวสมัยใหม่ และส่งเสริมประชาธิปไตย แต่ก็ไม่ได้ลงลึกหรือทำให้เห็นหรือเข้าใจว่าทำไมพระองค์ถึงเลือกประชาธิปไตยเท่าไหร่นัก นั่นทำให้เมื่อเทียบกับ “The Lady” หนังชีวประวัติของอองซานซูจี เรื่องหลังดูจะมีความเข้มข้นทางเนื้อหามากกว่ามาก แต่ทั้งนี้ก็ต้องไม่ลืมว่า สิ้นแสงฉาน เป็นการเล่าผ่านมุมมองของอิงเง แกนหลักของเรื่องจึงเป็นเรื่องของความรักที่เธอมีต่อสามีมากกว่า
ความน่าสนใจของ “สิ้นแสงฉาน” จริงๆ คือการดูหนังเรื่องนี้ไปพร้อมๆ กับการมองบริบทางสังคมและประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริง สิ้นแสงฉานอาจเป็นเพียงหนังเล็กๆ แต่มันก็เป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ของชาวไทยใหญ่ ที่ทำให้ชนชาตินี้มีตัวตนในสายตาโลกขึ้นมาอีกครั้ง ทั้งหนังเรื่องนี้ยังเป็นการยืนยันอย่างหนึ่งว่า ปัญหาชาติพันธุ์ที่ฝังรากลึกในพม่ายังคงอยู่ และมันมีโอกาสจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศนี้ในอนาคตได้อีกครั้ง
ภาพจริงของ เจ้าจาแสงกับพระนางสุจันทรี (อิงเง) กับพระธิดาทั้ง 2 พระองค์
สำหรับไทย เราควรมอง “สิ้นแสงฉาน” อย่างไร น่าสนใจตรงที่แม้เนื้อหาของสิ้นแสงฉานจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับไทยโดยตรง แต่บางส่วนในหนัง และการปฏิบัติต่อหนังเรื่องนี้ของไทย กลับทำให้เรามองเห็นแนวทางการทูตของไทยต่อการเมืองประเทศเพื่อนบ้านเป็นอย่างนี้ นั่นคือแนวนโยบายที่ว่า เราเลือกจะเฉยชา หรืออย่างน้อยๆ ก็คือไม่ออกหน้าอย่างชัดเจน ต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในพม่า โดยให้เหตุผลว่ามันเป็นเรื่องภายในประเทศเขา แต่เหตุผลจริงๆ ก็คือการเป็นหลักประกันว่าไทยจะสามารถเข้ากันได้กับทุกฝ่าย ไม่ว่าใครจะชนะก็ตาม ประเด็นนี้เผยให้เห็นชัดในฉากสุดท้ายของเรื่อง เมื่อสถานทูตไทยในออสเตรีย ให้การต้อนรับนายพลเนวินเป็นอย่างดี แต่กลับแสดงอาการเพิกเฉยปนสงสัยว่า “อีนี่มาทำไม” ต่ออิงเง ที่พยายามเข้ามาเรียกร้องความยุติธรรมให้สามีกับนายพลเนวิน
เช่นเดียวกัน การถอดสิ้นแสงฉานออกจากโปรแกรมเทศกาลภาพยนตร์ต่างประเทศที่ถ่ายทำในประเทศไทย ที่แม้จะดูเป็นการเซนเซอร์ตนเองของฝ่ายจัดงาน (กระทรวงการท่องเที่ยวเป็นเจ้าภาพ และบริษัทกันตนาเป็นผู้จัดงาน) แต่การถอดดังกล่าวก็ดูจะเข้ากันได้ดี กับนโยบายไม่ยุ่งเรื่องคนอื่นของเรา เพราะหากฉายไปก็อาจมีโอกาสที่ท่างการพม่าจะมองว่าไทยเลือกข้างแล้วก็ได้
ทั้งนี้ ไม่ได้ฟันธงว่าแนวนโยบายต่างประเทศแบบนี้ของไทยนั้นถูกหรือผิด เพราะในแง่หนึ่งมันก็ทำให้ไทยยังรักษาผลประโยชน์ตนเองจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้เสมอมา ไม่ว่าพม่าจะเป็นเผด็จการหรือประชาธิปไตยก็ตาม แต่อีกแง่หนึ่ง มันก็ทำให้ไทยสูญเสียโอกาสจะเป็นผู้นำที่แท้จริงในภูมิภาคนี้ไป เช่นเดียวกันกรณีข้อพิพาทหมู่เกาะสแปรตลีย์ ไทยเองก็มีโอกาสจะเข้าไปเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยได้ แต่สุดท้ายเราก็เลือกจะนิ่งเฉย ตอนนี้เราจึงได้แค่ภูมิใจกับความเป็นผู้นำภูมิภาคของเรา แค่ในหน้ากระดาษวิชาประวัติศาสตร์ และบนโลกอินเทอร์เน็ต
Share
- การรักษา Lockjaw - 01/24/2024
- อาการบาดทะยักคืออะไร? - 04/26/2023
- วิธีรักษาซิฟิลิส - 04/24/2023