[Criticism] Wonder Woman – ผู้หญิง สงคราม และฮีโร่ที่โลกต้องการ


Wonder Woman isn’t Perfect

หนังยังมีจุดอ่อน จุดด้อย จุดน่าเบื่ออยู่บ้าง CG ก็ลอยๆ ในหลายฉาก แถมเนื้อเรื่องก็เหมือนจะดูเดิมๆ อีก แต่กระนั้น Wonder Woman ก็เป็นหนังที่มีจุดเด่น จุดน่าสนใจ น่าประทับใจอยู่มากเช่นกัน จนส่วนตัวเชื่อมั่นว่า นี่เป็นหนังที่จะได้รับการต้อนรับจากคนส่วนใหญ่อย่างอบอุ่น บางคนอาจชอบมาก บางคนอาจชอบน้อย แต่คงมีน้อยคนที่จะเกลียดเธอได้ลง ซึ่งแตกต่างจากหนังเรื่องก่อนๆ ของ DCEU ที่มักจะ “ไม่รักก็เกลียดเลย” (และคนเกลียดก็มีไม่น้อยเสียด้วย)

จุดแตกต่างสำคัญของ Wonder Woman กับหนังเรื่องก่อนๆ ใน DCEU คือการเลือกจะเล่นท่าง่าย เล่าเรื่องตาม Step ไม่ซับซ้อน แต่ก็ในความง่ายนั้น หนังก็ทำได้อย่างสวยงามในสิ่งที่ตัวเองเลือกและต้องการจะเป็น ขณะที่ BvS และ Suicide Squad คือตัวอย่างการพยายามเล่นท่ายากเกินตัว แล้วทำไม่ถึง จนตกมาเจ็บอย่างสาหัส (ส่วน Man of Steel ผมโอเคเลยนะ ชอบมาก)

หลายคนอาจมองว่า Wonder Woman เป็นเพียง “เหล้าเก่าในขวดใหม่” แต่กระนั้น ตัวหนังก็พิสูจน์ตัวเองได้ว่า ถึงเหล้าจะเก่า แต่รสชาติยังดีเยี่ยม ที่สำคัญหนังมาในเวลาที่พอเหมาะพอเจาะมาก  ช่วงเวลาที่ทั้งสภาพสังคม การเมือง แนวคิดความเท่าเทียมกันทางเพศ ได้ส่งให้ “Wonder Woman” กลายเป็น “ฮีโร่” แห่งความหวัง ฮีโร่ที่เราวางใจให้ปกป้องเรา ในยุคที่ฮีโร่ส่วนใหญ่ติดอยู่กับดราม่าและปมในใจ ไม่แปลกที่หลายคนจะโดนใจกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะกับฝรั่งที่หลายๆ อย่างในเรื่องชวนให้นึกถึงสิ่งที่พวกเขากำลังเผชิญในยุคปัจจุบัน

Wonder Woman isn’t a Feminist

เพราะ “Wonder Woman” เป็นผู้หญิง แถมผู้กำกับ “Patty Jenkins” ก็ยังเป็นผู้หญิง ทำให้คิดกันไปว่านี่ต้องมาในทางเพื่อนหญิง พลังหญิง ชูความเป็นเฟมินิสต์แบบสุดๆ แน่ๆ ซึ่งในแง่หนึ่ง Wonder Woman ก็ทำหน้าที่ได้อย่างดีในการสะท้อนภาพความไม่เท่าเทียมทางเพศในสังคม โดยเฉพาะในยุคสงครามที่ถูกมองว่าเป็น “พื้นที่ของผู้ชาย” รวมถึงการบอกว่าว่าผู้หญิงก็มีความสามารถ ความเป็นผู้นำ ความแข็งแกร่งได้ไม่แพ้ผู้ชายเช่นกัน กระนั้น Wonder Woman อาจไม่ได้เป็น Feminist เพราะ Feminist ถือกำเนิดจากสภาพสังคมที่ไม่เท่าเทียมกันทางเพศ แต่ “Diana” หรือ “Wonder Woman” (Gal Gadot) เติบโตมาในสังคมที่ “ไม่มีเพศ” (เพราะทุกคนในเกาะเพศเดียวกันหมด) เมื่อไม่มีเพศก็ไม่เห็นความเหลื่อมล้ำทางเพศ สายตาที่ Diana ใช้มองโลก จึงอาจแตกต่างจากสายตาแบบ Feminist ทั่วไป

เราว่า “Patty Jenkins” เข้าใจเรื่องนี้นะ เลยทำหนัง “Wonder Woman” ให้ออกมาในทางนำเสนอ “ความเท่าเทียมกันทางเพศ” มากกว่าจะเป็นแค่หนัง “เชิดชูเพศหญิง” อย่างเดียว หนังทำให้เห็นว่าตัว Wonder Woman นั้นสง่า เก่งกาจ และน่าเคารพเพียงใด โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปกดผู้ชายให้ต่ำลง ตัวละครอย่าง “Steve Trevor” (Chris Pine) คนรักของ Diana ก็ไม่เป็นเพียงตัวประกอบ แต่มีซีนและความสำคัญต่อเรื่องราว แบบที่เราอยากให้หนังซุปเปอร์ฮีโร่ชายเรื่องอื่นๆ ให้ซีนและความสำคัญกับ “คนรัก” ของพวกเขาเหมือนที่หนัง Wonder Woman ให้กับ Steve Trevor บ้าง

ว่าไปก็ชวนให้นึกถึง “Ghostbuster” ฉบับ Remake ที่เป็นตัวอย่างของหนังที่พยายามจะทำตัวเองเป็นหนังเฟมินิสต์ แต่ลงท้ายด้วยการเป็นหนังเหยียดเพศเรื่องหนึ่ง (เพียงแต่เพศที่โดนเหยียดในที่นี้เพศชาย)

การเลือก “Gal Gadot” มาเป็น “Wonder Woman” เป็นอะไรที่ใช่มาก แม้การแสดงของเธออาจยังไม่เยี่ยมยอดมาก แต่ที่ Gal มีคือ ความสง่างาม ความสวยงามในแทบทุกมุม (ต้องยกย่องทีมถ่ายภาพและ Slow Motion ที่ดึงความงดงามของเธอมาได้ถึงที่สุด) ที่สำคัญ Gal ทำให้ Wonder Woman มีเสน่ห์แบบที่ไม่ว่าเพศไหนก็ต้องเหลียวมอง เข้มแข็งแต่อ่อนโยน ไร้เดียงสาแต่ไม่โง่ ไม่ Sex Symbol แต่ก็ Sexy ในแบบตัวเอง อย่างไรตาม Wonder Woman เวอร์ชั่นนี้ก็อาจไม่เป็นที่ชื่นชอบของคนสุดโต่งเท่าไหร่ ทั้งกลุ่มที่คาดหวังว่าเธอจะต้องเป็น Sex Symbol นมใหญ่ บริสุทธิ์ รวมถึงเฟมินิสต์สายสุดขั้ว ที่ปฏิเสธผู้ชาย หรือสายอนุรักษ์นิยมที่อาจมีปัญหากับการนุ่งสั้นเกาะอก

War to End All War

ตั้งแต่ที่เริ่มมีประกาศสร้าง Wonder Woman สิ่งหนึ่งที่ส่วนตัวสนใจคือ การวาง Setting ของเรื่องเป็น “สงครามโลกครั้งที่ 1” (1914 – 1918) หรือที่ในตอนนั้นเรียกกันว่า “War to End All War” ที่สนใจเพราะมีหนังที่พูดถึงสงครามนี้น้อย ส่วนใหญ่จะหันไปเล่นสงครามโลกครั้งที่ 2 กันมากกว่า คิดว่าที่ Wonder Woman เลือกสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นฉากหลัง ทั้งที่ภูมิหลังใน Comic นั้นกำเนิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 คงเพราะไม่อยากให้ซ้ำกับ “Captain America: The First Avenger” มากเกินไป แต่สิ่งที่ได้กลับมากกว่านั้น…

มีนักประวัติศาสตร์/รัฐศาสตร์หลายคนที่มองว่า สถานการณ์โลกปัจจุบันนั้นมีความใกล้เคียงกับสถานการณ์ในช่วงก่อนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 มันเป็นช่วงที่เพิ่งผ่านการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ในช่วงก่อนสงครามโลก ยุโรปมีการปฏิวัติอุตสาหกรรม เกิดเศรษฐกิจทุนนิยมเต็มตัว สังคมเมืองสมัยใหม่ ผู้หญิงเริ่มออกมาทำงานนอกบ้านมากขึ้น แนวคิดเสรีนิยมกระจายไปทั่ว แต่ขณะเดียวก็เกิดภาวะเติบโตของลัทธิชาตินิยม จนเป็นสาเหตุหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่ 1 และแนวคิดนี้ยังถูกบ่มเพาะจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำช่วงหลังสงคราม จนแนวคิดชาตินิยมสุกงอมถึงขีดสุดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นอกจากนี้ สงครามโลกครั้งที่ 1 ยังถือเป็นช่วงเปลี่ยนวิธีการทำสงคราม จากแบ่งเก่าที่เน้นกำลังทหารราบ ประจัญหน้า มาเริ่มให้ความสำคัญกับยุทโธปกรณ์บก น้ำ อากาศต่างๆ มากขึ้น

เมื่อเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบัน เราอยู่ในยุคที่เพิ่งผ่านการโลกาภิวัตน์ ทุนนิยม เสรีนิยม กระจายไปทั่วโลก แต่ขณะเดียวกระแสแบบนี้ก็ทำให้คนเสียประโยชน์ คนที่ไม่สามารถแข่งขันได้ จนเกิดกระแสชาตินิยมที่รุนแรงขึ้น เพื่อต้องการรักษาผลประโยชน์ของชาติและตนเอง เห็นได้จากผู้นำโลกฝ่ายขวาที่ขึ้นครองอำนาจมากขึ้น การทำสงครามเริ่มเปลีย่นรูปแบบจากการต่อสู้โดยตรง เป็นสงครามไซเบอร์ หรือการก่อการร้ายมากขึ้น เราอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ความรู้สึกไม่มั่นคง ไม่รู้ว่าจะเป็นยังไงต่อ แถมยังไม่มีตัวดีตัวร้ายที่ชัดเจน ซึ่งก็คล้ายๆ กับในสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่มีความเทาๆ กันทั้ง 2 ฝ่าย แตกต่างจากในสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มักสรุปกันชัดเจนไปว่า อเมริกาและสัมพันธมิตรเป็นพระเอก ส่วนญี่ปุ่น เยอรมันเป็นผู้ร้าย ยิว จีน เกาหลี เป็นเหยื่อ

คิดว่านี่คงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ฝรั่งค่อนข้างตอบรับ Wonder Woman อย่างดี เพราะมันมีสารระหว่างบรรทัดที่สะท้อนภาพสังคมที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่ โดยเฉพาะในสังคมเสรีที่ฝ่ายขวาเริ่มเติบโตมากขึ้น (ส่วนสังคมไทยอาจไม่อินกับประเด็นนี้ เพราะเราอยู่กับฝ่ายขวามาจนชินละ เหอะๆ)

Hero that We Deserve

จุดอ่อนสำคัญของหนัง Wonder Woman คือเนื้อเรื่องที่ค่อนข้างเดิมๆ ไม่มีอะไรซับซ้อน แต่สิ่งที่เป็นจุดแข็งเลยก็คือในความเรียบง่ายนั้น Wonder Woman ถือเป็น “หนังฮีโร่” อย่างแท้จริง ทั้งการเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่น รวมถึงเป็นฮีโร่ที่เราจะสามารถรู้สึก “อุ่นใจ” และ “วางใจ” ให้เป็นคนปกป้องเราได้ ยิ่งในยุคสมัยคนมีความรู้สึกไม่มั่นคงมากขึ้น ก็ยิ่งใฝ่หาฮีโร่แบบนี้มากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งทีหนังฮีโร่ในช่วง 10 ปีนี้ไม่ค่อยมี หรือมีก็ทำได้ไม่ค่อยถึง เพราะจะเน้นไปที่ความสมจริงของฮีโร่ และพูดถึง “ฮีโร่ที่ราจำเป็นต้องมี” มากกว่า “ฮีโร่ที่เราอยากจะให้มี”

Superman เคยเป็นฮีโร่ที่คนวางใจ แต่ Superman ใน DCEU ก็เคร่งเครียดและดูมีปมเรื่องที่มาตัวเองเสียเหลือเกิน Batman ยิ่งไม่ต้องพูดถึง ชีวิตดราม่าไป The Flash (ในซีรีส์) ก็ซื่อบื้อและสร้างความ Ship High ให้ Timeline เกินไป ข้ามไป Spider-man ก็ดูยังวุ่นวายกับปํญหาชีวิตไว้รุ่นและการเงิน ทีม The Avengers ก็มีปัญหาภายในภายนอกอยู่ตลอด Guardians ก็อยู่นอกโลก ส่วน Thor ที่เหมือนจะเป็นเทพเหมือนก็มีปัญหาภายในครอบครัวให้จัดการ ในช่วงสมัยหนึ่งเรามองว่า ซุปเปอร์ฮีโร่ ควรมีความสมจริง มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น เราเลยใส่ปมต่างๆ เข้าไปให้กับพวก ซึ่งมัน Work อยู่ แต่พอถึงตอนนี้ ในยุคสมัยแห่งความมั่นไม่คง คิดว่าคงมีหลายคนที่อยากได้ฮีโร่แบบที่ไม่ต้องมีดราม่าปัญหาส่วนตัว ไม่ต้องมานั่งกังวลว่าที่ทำไปจะถูกมั้ย เพราะกว่าจะเคลียร์ปมเสร็จ คนก็ตายก่อนพอดี

Wonder Woman ตอบโจทย์ฮีโร่แบบนี้นะ พลัง สกิลการต่อสู้ ก็จัดว่าเยี่ยม แถมยังไม่ค่อยมีปม ปัญหาส่วนตัวอะไรมากมาย ต่อต้านสงคราม แต่ก็พร้อมต่อสู้เพื่อหลักการของตัวเอง สามารถตัดสินถูกผิดได้ แม้ในช่วงสมัยที่ค่อนข้างเป็นสีเทาก็ตาม ส่วนตัวเลยชอบองก์ 3 เพราะเป็นช่วงที่เล่นประเด็นว่ามนุษย์มีค่าอะไรให้ปกป้อง ชอบในเป้าหมายของตัวร้ายที่ไม่ใช่แค่ยึดครองโลก แต่ต้องการพิสูจน์ว่ามนุษย์นั้นชั่วร้าย ที่เหมือนหักล้างความคิดต่อมนุษย์ของ Wonder Woman เสียดายแค่ตัวร้ายหลักมายังไม่จุใจ และยัง CG ลอยไปนิด กระนั้นก็ยังดีกว่า Doomsday ใน BvS และตัวร้ายใน Suicide Squad มากโข ทั้งนี้ เป็นที่สังเกตว่าถ้าใครชอบองก์ 3 ของเรื่องจะไม่ค่อยชอบองก์ 1 แต่ถ้าชอบองก์ 1 จะมองว่าองก์ 3 เป็นจุดอ่อน ส่วนองก์ 2 นี่ส่วนใหญ่ตอบรับดีทั้งนั้น

การมาของหนัง Wonder Woman จึงมาในจังหวะที่เหมาะเจาะมาก ถ้าฉายเร็วกว่านี้สัก 10 ปี คงถูกมองว่าเชยแน่ๆ แต่ ณ ตอนนี้ เธอเป็นฮีโร่แบบที่คนใฝ่หาพอดี ทำให้เนื้อเรื่องที่เหมือนจะเดิมๆ กลับกลายเป็นความแตกต่างขึ้นมา ในยุคที่หนังฮีโร่ส่วนใหญ่พยายามเล่นกับปมและปัญหาส่วนตัวของฮีโร่เป็นหลัก

Wonder Woman อาจไม่ได้ Perfect แต่ก็น่าพึงพอใจ และในความที่เหมือนจะเรียบง่ายตามสูตรของเรื่อง ก็แฝงไปด้วยระหว่างบรรทัดที่น่าจะคิดต่อมากมาย

I Wish We Had More Time

จุรีพร โนนจุ่น
Latest posts by จุรีพร โนนจุ่น (see all)