[Review] We Married as Job – โรแมนติกคอมเมดี้สะท้อนสังคม

แม้กระแสโลกจะเทไปในทางเรียกร้องความเท่าเทียมกันระหว่างเพศมากขึ้น แต่สังคมหลายๆ ที่ในโลกก็ยังคงพบเห็นภาพความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ได้อยู่ โดยเฉพาะในสังคมญี่ปุ่นที่ยังคงมีความเป็นสังคมชายเป็นใหญ่อยู่ ตั้งแต่อดีตที่ญี่ปุ่นแบ่งแยกบทบาทชาย-หญิงอย่างชัดเจน ฝ่ายชายทำงานเป็นหัวหน้าครอบครัว ขณะที่ฝ่ายหญิงรับบทเป็นแม่บ้านเต็มตัว ปรนนิบัติสามี ดูแลบ้าน ไม่ให้ขาดตกบกพร่อง โดยไม่มีค่าตอบแทนแต่อย่างไร เพราะถือเป็นหน้าที่ที่ภรรยาควรกระทำ แต่แนวคิดแบบนี้ยังใช้ได้อยู่มั้ยกับสภาพสังคมปัจจุบัน เมื่อผู้หญิงเองก็ต้องออกมาทำงานนอกบ้านด้วย ในขณะที่ผู้ชายยังคงคาดหวังพวกเธอจะยังคงทำหน้าที่แม่บ้านที่สมบูรณ์แบบเหมือนเดิม

“We Married as Job” ซีรีส์ญี่ปุ่นที่กระแสแรงสุดในปี 2016 โดยเฉพาะเพลงและท่าเต้นจากซีรีส์ที่ฟีเวอร์ไปทั่วเกาะญี่ปุ่น ซีรีส์เรื่องนี้หยิบเอา Plot คลาสสิคอย่าง “การแต่งงานจำเป็น” มาเป็นโครงหลักของเรื่อง แต่สิ่งที่ทำให้ We Married as Job แตกต่างจากเรื่องอื่นๆ ที่เล่น Plot เดียวกันคือ “รายละเอียด” และ “มุมอง” ที่ทำให้ซีรีส์เรื่องนี้ไม่ได้มีเพียงแค่ความโรแมนติกคอมเมดี้ แต่ยังสะท้อนภาพสังคมญี่ปุ่นปัจจุบัน ที่วิถีชีวิตใหม่ๆ กำลับท้าทายค่านิยมการแต่งงานแบบเดิมๆ

ตัวเอกฝ่ายหญิงคือ “มิคุริ โมริยามา” (ยูอิ อารากากิ) มหาบัณฑิตที่ได้ทำงานเป็นเพียงพนักงานสัญญาจ้างในบริษัทเล็กๆ แถมยังลงเอยด้วยการที่บริษัทไม่ต่อสัญญา เพราะเห็นว่าเรียนมาสูง คงมีทางไปที่ดีกว่า… แต่ในช่วงที่ว่างงานอยู่ มิคุริก็ได้รับข้อเสนองานพิเศษทำงานความสะอาดห้องให้กับ “ฮิรามาสะ ทสึซากิ” (เก็น โฮชิโน) วิศวกรระบบหนุ่มโสดแอนด์เนิร์ด รักไม่ยุ่ง มุ่งแต่งาน จนวันหนึ่ง “มิคุริ” ก็ยื่นข้อเสนอแปลกๆ กับ “ฮิรามาสะ” ว่า “แต่งงานกันเถอะ

การแต่งงานของมิคุริกับฮิรามาสะถือเป็น “การแต่งเพื่อผลประโยชน์ของแท้” มิคุริยังอยากอยู่โตเกียวต่อ (ซึ่งหากไม่มีงาน ก็ไม่มีข้ออ้างจะอยู่ต่อ) ประกอบกับรายได้จากการทำความสะอาดห้องพักฮิรามาสะค่อนข้างดี กระนั้นก็ยังเป็นเพียงงานชั่วคราว เธอจึงเสนอข้อตกลง “การแต่งงาน” ขึ้น ซึ่งมิคุริจะ “ทำงานเป็นภรรยา” คอยดูแลเรื่องความสะอาด อาหารการกินของฮิรามาสะ โดยที่ฮิรามาสะในฐานะ “นายจ้าง” ก็จะจ่ายค่าตอบแทนอย่างเหมาะสม

สำหรับพวกเขาแล้วนี่ถือว่า Win-Win มิคุริได้งาน มีที่อยู่ ขณะที่ฮิรามาสะพอมีคนมาช่วยทำงานบ้าน ก็มุ่งเรื่องงาน กับใช้เวลากับงานอดิเรกของตนได้อย่างเต็มที่ ค่าจ้างที่จ่ายไปแม้จะมากกว่าตอนจ้างทำความสะอาดเป็นครั้งๆ แต่ก็คุ้ม เพราะได้คนทำงานตลอด แถมค่าใช้จ่ายในบ้านลดมีแนวโน้มลดลง เพราะมิคุริซึ่งมาอาศัยอยู่ในบ้านด้วย จะแบ่งกันออกค่าใช้จ่ายครึ่งหนึ่ง ในซีรีส์ทั้ง 2 คนจริงจังกับเรื่องนี้มาก มีร่างสัญญาจ้างงาน และแจกแจงค่าจ้าง-ค่าใช้จ่ายที่ต้องรับผิดชอบกันละเอียดยิบทีเดียว

แต่ก็นั่นแหละ ชายหญิงมาอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน (จริงๆ คือห้องพักอพาร์ทเมนท์) สุดท้ายเราก็พอเดาได้ว่าคงพัฒนาเป็น “ความรัก” ซึ่งในมุมของความเป็นโรแมนติกคอมเมดี้ กับการมองดูพัฒนาการความสัมพันธ์ของคนทั้งสอง ตัวซีรีส์ก็ทำออกมาได้ดี ทั้งยิ้ม หัวเราะ และซึ้งได้ตลอด การที่ตัว “ฮิรามาสะ” เป็นคนที่ไม่ประสีประสาด้านความรักจนถึงขั้นกลัวที่จะมีความรัก ยิ่งทำให้เรื่องลุ้นและฮาขึ้นไปอีก โดยเฉพาะช่วงกลางๆ เรื่องเป็นต้นไป ที่ฮิรามาสะเริ่มแสดงออกมากขึ้นแล้ว

อย่างไรก็ตาม ภายใต้เปลือกนอกความโรแมนติกคอมเมดี้ We Married as Job ซ่อนส่วนเด่นที่สุดเอาไว้นั่นก็คือ การสะท้อนภาพสังคมญี่ปุ่นปัจจุบัน อย่างที่เรามักรับรู้กันว่า คนญี่ปุ่นนั้นทำงานกันหนักมาก ยิ่งปัจจุบัน หลายคนเลือกงานมาก่อนครอบครัว ผู้ชายอย่างฮิรามาสะ ที่ทำแต่งาน ไม่สนใจจะมีครอบครัวมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และความที่สังคมญี่ปุ่นในอดีต ตั้งให้ผู้ชายเป็นหัวหน้าครอบครัว ซึ่งมาพร้อมกับความรับผิดชอบเลี้ยงดูครอบครัว นั่นอาจเป็นสาเหตุให้ผู้ชายหลายคนในญี่ปุ่นตัดสินใจที่จะเป็นโสดมากขึ้น ในสภาพสังคมที่กดดันแบบนี้ รับผิดชอบแค่ตัวเอง คงง่ายกว่ารับผิดชอบคนอื่นด้วย

เช่นเดียวกัน ฟากฝ่ายหญิง ตัวมิคุริก็มีความเป็นผู้หญิงสมัยใหม่ ที่ต้องการ “การยอมรับ” จากคนอื่น ซึ่งการอยากได้การยอมรับนี่แหละทำให้มิคุริยอมทำงานเล็กๆ ในบริษัทเล็กๆ หรือกระทั่งทำสัญญาแต่งงาน ให้เห็นว่าเธอสามารถทำได้ดีในสิ่งที่ได้รับมอบหมาย และสมควรได้รับการตอบแทนที่เหมาะสมจากสิ่งที่ทำเช่นกัน อย่างการเป็น “แม่บ้านญี่ปุ่น” ที่สำหรับมิคุริเป็นอาชีพที่ไม่มั่นคงอย่างแรง มันไม่ใช่ว่าพอเป็นแม่บ้านแล้วจะอยู่เฉยๆ การทำงานบ้าน เตรียมอาหาร ดูแลเรื่องต่างๆ มันก็หนักหนาไม่แพ้การทำงานของผู้ชาย แต่พวกเธอไม่ได้เงินตอบแทนเลย และถ้าเมื่อไหร่สามีไม่สนใจแล้ว พวกเธอก็ไม่แทบไม่เหลืออะไรเลย

อย่างหนึ่งที่คิดว่าทำให้เรื่องนี้ดัง น่าจะเพราะแม้มิคุริจะดูเป็นผู้หญิงสมัยใหม่ แต่ก็ไม่ได้ถึงขั้นต่อต้านหรือปฏิเสธจารีตแบบเก่าของสังคมเลย เธอต้องการปรับเปลี่ยนไม่ใช่ลบล้าง เหมือนอย่างที่เธอยังโอเคกับการเป็นแม่บ้าน เพียงแต่อยากให้มองการเป็นแม่บ้านของภรรยาในมุมใหม่ ซึ่งมันทำให้เรื่องนี้่มีศักยภาพในการเข้าถึงคนได้หลากหลายกลุ่มทั้งรุ่นใหม่และรุ่นเก่า

และเช่นเดียวกับซีรีส์ญี่ปุ่นเรื่องอื่นๆ ที่จะไม่ได้เน้นแค่พระนางอย่างเดียว ตัวละครแวดล้อมก็สำคัญและมีเรื่องราวของตัวเองเช่นกัน อย่างใน We Married as Job ก็พาเราไปสำรวจสภาพสังคมญี่ปุ่นในยุคเปลี่ยนผ่านตัวละครหลากหลายคนไม่ว่าจะเป็นประเด็นครอบครัวญี่ปุ่นแบบเก่า สาวโสดวัยกลางคน ผู้หญิงที่ถูกสามีบอกเลิกแล้วไม่เหลืออะไรเลย ไปจนถึงเพศที่สามในสังคมญี่ปุ่น ประเด็นหลังนี่น่าสนใจเพราะไม่ค่อยปรากฎในสื่อญี่ปุ่นมากนัก

ปัญหาของ We Married as Job คือการดำเนินเรื่องแบบการ์ตูนค่อนข้างเยอะ มีความโอเวอร์ในหลายๆ ช่วง รวมถึงการที่มุขส่วนใหญ่เป็นมุขรำลึกความหลังกระแสบันเทิงญี่ปุ่นในอดีต ซึ่งถ้าเราไม่รู้จักก็จะไม่อินกับมัน อย่างไรก็ตาม พอผ่านไปสัก 3-4 ตอน เราจะเริ่มปรับตัวและสนุกกับมันได้ อีกประเด็นคือ “พระเอกอาจไม่หล่อนะ” แต่ก็ไม่ปัญหาสำหรับผมเท่าไหร่ เพราะสนใจนางเอกเป็นหลัก 555 กระนั้นพอดูๆ ไป พระเอกจากที่ไม่หล่อก็จะ….ยังไม่หล่อเหมือนเดิม….แต่เราก็จะไม่สนใจแล้วว่าหล่อหรือไม่หล่อ เพราะเราจะหลงรักตัวละครนี้ไปแล้ว

ว่าไปน่าจะเป็น Trend ญี่ปุ่นช่วงนี้แฮะ ที่มีซีรี่ส์เกี่ยวกับมุมมองเกี่ยวกับชีวิตคู่และครอบครัวออกมามากในปัจจุบัน

จุรีพร โนนจุ่น
Latest posts by จุรีพร โนนจุ่น (see all)