[Review] War for the Planet of the Apes – จุดเริ่มต้นพิภพวานร หรือ จุดจบมนุษยชาติ



“War for the Planet of the Apes” เป็นภาคที่ 3 ของหนังพิภพวานรยุคใหม่ ที่เล่าเรื่องจุดกำเนิดพิภพวานรผ่านสายตาของ “Caesar” (Andy Serkis) วานรตัวแรกที่พัฒนาระดับสติปัญญาขึ้นมาเทียบเท่ามนุษย์ โดยภาคนี้ดำเนินเรื่อง 2 ปีหลังจากเหตุการณ์ใน “Dawn of the Planet of the Apes” เมื่อ Ceasar และเหล่าวานรต้องเผชิญหน้ากับกลุ่มทหารที่ต้องการทำลายล้างพวกเขาให้สิ้นซาก รวมไปถึงกับการเผชิญความขัดแย้งในใจของตัว Caesar เอง เมื่อเขาเริ่มรู้สึกว่า เขากำลังจะกลายเป็น “Koba” วานรตัวร้ายผู้จงเกลียดมนุษย์ ซึ่ง Caesar ได้กำจัดไปในภาค Dawn

ด้วยเหตุนี้ จะดู War for the Planet of the Apes ได้สนุกและอินมากขึ้น ควรดูภาค Rise และ Dawn มาก่อน เพื่อจะได้เห็นพัฒนาการทางอารมณ์และมุมมองของตัว Caesar ได้ชัดเจนขึ้น และถ้าเป็นไปได้ย้อนไปดูภาค “Planet of the Apes” (1968) ต้นฉบับคลาสสิคของแฟรนไชรส์ชุดนี้เลยก็ดี เพราะเนื้อหาใน War คือการปูทางไปสู่ภาคต้นฉบับนั่นเอง

หากเทียบ War เข้ากับ Rise และ Dawn เราจะเห็นว่าแม้แกนหลักจะอยู่ที่ Ceaser เหมือนกัน แต่มุมมองนั้นเปลี่ยนไปในแต่ละภาค

Rise คือมุมมองที่ Ceaser มองมายังมนุษย์ เขามองเห็นความดีงามของครอบครัวที่เลี้ยงเขา เห็นความชั่วร้ายของกลุ่มคนที่ทารุณสัตว์ พร้อมๆ กับพัฒนาการของตัวเอง ที่นำพาเขาไปสู่จุดปลดแอกวานรออกจากมนุษย์

Dawn คือมุมมองที่ Ceasar มองวานรด้วยกันเอง แม้จะมีตัวละครมนุษย์เข้ามาเกี่ยว แต่ปมความขัดแย้งหลักคือเรื่องของ Ceasar กับ Koba ซึ่งมีความคิดเห็นต่อมนุษย์แตกต่างกัน ความขัดแย้งนี้ทำให้ Ceasar ต้องกลับมามองว่าเขาสามารถคุมเหล่าวานรได้เพียงไร และสังคมวานรกำลังพัฒนาไปเป็นเหมือนสังคมมนุษย์ที่มีทั้งดีทั้งเลวใช่หรือไม่ วานรไม่ใช่ผู้ถูกกระทำอย่างเดียว แต่กำลังจะกลายเป็นผู้กระทำด้วยเช่นกัน

War สำหรับภาคนี้นี่คือมุมมองที่ Ceasar หันกลับมามองตัวเอง การเข้ามาของเหล่าทหารที่นำโดย “ผู้พัน” (Woody Harrelson) ซึ่งนำพาความโหดร้ายมาสู่ครอบครัวเขา นั่นทำให้ Ceasar เป็นเดือดเป็นแค้น คติที่ว่า “วานรไม่ฆ่ากันเอง” หรือความเชื่อที่ว่า “มนุษย์ก็มีมุมที่ดี” ซึ่ง Ceasar เชื่อมั่นมาตลอดเริ่มสั่นคลอน เขาเริ่มถูกความแค้นเข้าครอบงำ และไม่ช้าเขาก็เริ่มรู้สึกตัวเองกำลังจะกลายเป็น “Koba” วานรตัวร้ายที่ Ceasar เคยต่อต้าน

ถึงจะตั้งชื่อว่า “War” แต่เอาเข้าจริงแล้วภาคนี้มันก็ไม่ใช่ War ระหว่างมนุษย์กับวานรเสียทีเดียว หากแต่เป็นการ War ในใจของแต่ละฝั่งมากกว่า Ceasar ก็มีความขัดแย้งว่าเลือกฆ่าไม่ฆ่า แก้แค้นหรือไม่แก้แค้น ขณะที่ฝั่งมนุษย์ก็มีการ War ทางความคิดว่าจะเลือกทำเช่นไร ในยุคสมัยที่มนุษย์กำลังสูญเสียความยิ่งใหญ่ทางเผ่าพันธุ์ไปเรื่อยๆ

ในแง่ความสนุกและเข้มข้นแล้ว War อาจยังสู้ Rise และ Dawn ไม่ได้ อาจเพราะหนังเองเลือกจะไม่ตัดสินว่าใครผิดใครถูก และมองว่ายังไง “ธรรมชาติ” ก็จะคัดสรรให้เป็นแบบนี้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม War ก็ยังดีงามตามาตรฐานพิภพวานรยุคใหม่ ที่สำคัญคือภาคนี้ได้สร้างเรื่องราวที่ปูทางไปเชื่อมต่อกับภาคต้นฉบับ (1968) ได้ค่อนข้างเนียน ทั้งเหตุผลที่ทำไมวานรจึงเกลียดมนุษย์ หรือทำไมมนุษย์ในต้นฉบับจึงสูญเสียสติปัญญาจนกลายเป็นแค่สัตว์ ไปจนถึงการตั้งรกรากของกลุ่มวานรด้วย

ในหนังยังมีการเล่นกับประโยคที่ว่า “จุดเริ่มต้นคือจุดจบ” ซึ่งมันก็สะท้อนเรื่องราวในภาคนี้ ที่ถือเป็นการเริ่มต้นของ “พิภพวานร” อย่างเป็นทางการ ที่มาพร้อมๆ กับจุดจบของ “มนุษยชาติ” เช่นกัน

ด้วยมาตรฐานที่ยังรักษาไว้ได้ และเรื่องราวที่ยังมีให้เล่นอีกมากมาย (หรือจะไป Remake เรื่องราวในภาคต้นฉบับเลยก็ได้) ทำให้เชื่อมั่นว่าแฟรนไชรส์นี้น่าจะยังเดินไปได้ไกลแน่นอน

ดูอะไรต่อดี: Dawn of Planet of the Apes (2014), Planet of the Apes (1968), The Dark Knight (2008)

จุรีพร โนนจุ่น
Latest posts by จุรีพร โนนจุ่น (see all)