[Review] Timeline จดหมาย-ความทรงจำ – จาก The Letter ถึง Timeline การต่อยอดที่น่าประทับใจ (Spoil)
แต่ที่ว่าไม่ใช่ ก็เพราะด้วยปัญหาลิขสิทธิ์ทำให้ตัวหนังไม่สามารถใช้ชื่อเดิม ไม่สามารถอ้างว่าเป็นภาคต่อ รวมถึงมีการเปลี่ยนชื่อตัวละครด้วย จาก “ดิว” และ “ต้น” เป็น “มัท” และ “ทัน”
แม้ว่า Timeline จะไม่ใช่ภาคต่ออย่างเป็นทางการของ The Letter แต่ก็เป็นที่รู้กันว่ามันคือภาคต่อนั่นแหละ ส่วนหนึ่งก็สะท้อนมาใน Timeline ที่มีการหยิบเอาเสน่ห์ บรรยากาศ และเรื่องราวต่างๆ ใน The Letter มาเล่าซ้ำและต่อยอดจากเดิม ซึ่งครั้งนี้ต้องยอมรับว่า “นนทรีย์ นิมิตรบุตร” ผู้กำกับ Timeline และยังผู้อำนวยการสร้างตอน The Letter สามารถถ่ายทอดเรื่องราวได้อย่างน่าประทับใจ ยังคงเสน่ห์ในแบบ The Letter เอาไว้ได้ แต่ขณะเดียวกันก็ประยุกต์เข้ากับยุคสมัยใหม่ได้อย่างสวยงาม หลังจากที่ตอนแรกหวั่นเกรงว่าหนังจะออกมาค่อยดีตามประสาหนังภาคต่อและเน้นขายนักแสดงนำเกินไป
จาก Letter สู่ Timeline
The Letter เป็นหนังรักโรแมนติกที่ถ่ายทอดเรื่องราวของความรักผ่าน “จดหมาย” ขณะเดียวกันก็แทรกด้วยประเด็นเมืองกับชนทบท เหตุที่ทำให้ The Letter กลายเป็นหนังรักคลาสสิคของใครหลายๆ คน นอกจากการเล่นกับจดหมายที่หลายคนมองว่าเป็นสื่อคลาสสิคแล้ว ยังเป็นหนังรักที่บีบคั้นอารมณ์โดยเฉพาะในช่วงท้ายที่สามารถเรียกน้ำตาจากใครได้หลายคน แต่ในความเศร้านั้น The Letter ก็ส่งพลังให้คนที่อยู่ข้างหลังยังมีกำลังมีชีวิตต่อไปได้ด้วย นอกจากนี้ The Letter ยังเป็นที่ชื่นชอบด้วยวิวทิวทัศน์ที่สวยงามของภาคเหนือ ที่ดูแล้วให้ความสดชื่นมากมาย (สอดคล้องกับประเด็นท้ายเรื่องที่ต้องการให้มีกำลังใจในการมีชีวิตต่อไป)
เสน่ห์และเอกลักษณ์เหล่านี้ของ The Letter ยังคงมีอยู่ครบถ้วนใน Timeline ไม่ว่าจะวิวทิวทัศน์ที่ถ่ายออกมาได้สวยและให้ความรู้สึกที่สดชื่นเหมือนเดิม จะต่างกันก็ตรงที่ว่าใน Timeline ไปยังสถานที่อื่นๆ มากขึ้นไม่ได้อยู่แค่ที่เชียงใหม่อย่างเดียว หรือจะเป็นในแง่การบีบคั้นอารมณ์ Timeline ก็ยังคงเอกลักษณ์ตรงนี้ไว้ ช่วงเวลาท้ายเรื่องของ Timeline นี่มั่นใจได้เลยว่าหลายคนอาจมีเสียน้ำตาได้ และอาจมากกว่าเดิมด้วย เพราะการสูญเสียในเรื่องนี้มาแบบไม่ทันได้ตั้งตัว แต่ก็เช่นเดียวกับ The Letter แม้ว่าเรื่องมันจะเศร้า แต่สิ่งสำคัญคือคนที่อยู่ข้างหลังยังต้องก้าวต่อไป และสิ่งหนึ่งที่ทำให้คนข้างหลังก้าวต่อไปได้ ก็คือ “สื่อกลาง” ที่คนที่จากไปทิ้งไว้ให้
ใน The Letter จดหมายคือสื่อที่คนจากไปส่งให้คนที่ยังอยู่ ใน Timeline สื่อนั้นถูกอัพเกรดให้ทันสมัยมากขึ้นด้วยการใช้ “Facebook” (นั่นคือที่มาของชื่อ Timeline) ที่น่าชื่นชมคือนนทรีย์สามารถทำให้ Facebook ที่เป็นสื่อสมัยใหม่ ดูฉาบฉาย ไม่จริงใจ (ถ้าจำได้ใน The Letter ก็ค่อนข้างมองพวกสื่อออนไลน์เหล่านี้ในแง่ลบ) กลายเป็นสื่อที่โรแมนติกและน่าประทับใจได้ อาจเพราะนนทรีย์สามารถตีโจทย์ได้ว่า ไม่สำคัญที่ว่าจะเป็น “จดหมาย” หรือ “Facebook” เพราะสุดท้ายแล้วความสำคัญของทั้ง 2 อย่างก็คือ “สื่อกลาง” ที่เป็นตัวแทนในการถ่ายทอด “สาร/ความรู้สึก” ของ “คนส่ง” ไปยัง “คนรับ” ในห้วงเวลาที่คนส่งไม่กล้า/ไม่มีโอกาสที่จะพูดต่อหน้าด้วยตัวเอง น่าสนใจอีกตรงที่ว่าการเล่นประเด็นสื่อในการสื่อสารนี้ สอดคล้องกันพอดีกับการกำหนดให้ตัวละครในเรื่องเรียนคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน (เป็นคณะที่ผมเรียน ป.โทด้วย ส่วน ป.ตรี แม้ไม่ได้เรียนคณะนี้แต่ก็ไปลงวิชาของคณะนี้หลายวิชา)
อย่างไรก็ตาม แม้ Timeline จะชู Facebook เป็นตัวหลัก แต่ก็ใช่ว่าจะละทิ้งจดหมายไปเลยเสียทีเดียว เพียงแต่เปลี่ยนบทบาทจากเดิมจดหมายคือสิ่งที่คนที่จากไปส่งให้คนที่ยังอยู่ แต่บทบาทนี้ Facebook ได้รับหน้าที่แทนไปแล้ว ในเรื่องนี้จดหมายจึงเป็นสิ่งที่ “คนที่ยังอยู่ส่งให้กับคนที่จากไปแล้ว” แทน เป็นการพลิกบทบาทที่เพิ่มความซึ้งและความประทับใจได้มากทีเดียว การเขียนจดหมายถึงคนที่จากไปนี่มันเศร้านะ เพราะคนที่เราอยากให้อ่านไม่ได้อยู่แล้ว
สิ่งที่ตามหา/ไกลแค่ไหนคือใกล้
ตอนแรกยังสงสัยว่าผู้กำกับเป็นแฟนเพลงวง Getsnova หรือไง ถึงเอาเพลงของวงนี้มาใช้ตั้งหลายเพลง แต่ถ้าได้ดูใน Timeline ก็จะเข้าใจว่าทำไม เพราะประเด็นที่เพิ่มเติมเข้ามาใน Timeline และไม่มีใน The Letter ก็สอดคล้องกับเนื้อหาเพลงของ Getsnova โดยเฉพาะเพลงสิ่งที่ตามหาและเพลงไกลแค่ไหนคือใกล้
สิ่งที่ตามหา… หลายช่วงหลายตอนของ Timeline ชวนให้นึกถึงหนังไทยอีกเรื่องที่ผมชอบมากคือ Season Change ที่พูดเรื่องการตามหาสิ่งที่ตัวเองชอบจริงๆ โดยในขณะที่ใน Season Change ป้อมตัดสินใจเข้าวงออเคสตราทั้งที่ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับวงนี้เลย เพียงเพราดาว สาวที่เขาแอบชอบเป็นมือไวโอลินวงนี้ เช่นเดียวกันกับ Timeline แทนตัดสินไปทำงานกับกองถ่ายเพียงเพราะสาวที่เขาแอบชอบเป็นผู้กำกับ
อย่างไรก็ตาม เทียบกันแล้ว Timeline ยังเล่นกับประเด็นนี้ได้ไม่ชัดเท่า Season Change ยังไม่ทำให้เห็นถึงความโลเลหรือการละทิ้งความเป็นงตัวเองเพื่อคนที่ชอบของแทนนัก แต่อย่างน้อยหนังก็ทิ้งประเด็นให้กับเราว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะบอกว่าเราเจอสิ่งที่ตามหาแล้วหรือยังก็คือ “ความสุข” หากเราทำแล้วมีความสุข แม้ว่ามันจะเป็นความฝันของคนอื่น แต่นั่นก็ถือว่าเราเจอสิ่งที่ใช่แล้วเช่นกัน อย่าง “มัท” ที่มีความสุขกับการทำไร่ที่ “ทัน” ทิ้งไว้ให้ แม้มันอาจไม่ใช่ความตั้งใจแต่แรกเริ่มของมัท แต่การทำไร่ก็ทำให้มัทรู้สึกได้ใกล้ชิดทันอีกครั้งหนึ่ง
ไกลแค่ไหนคือใกล้… ในแง่ความรัก Timeline จะต่างจาก The Letter ตรงที่ขณะที่ภาคก่อนเป็นโรแมนติกที่สมหวังซึ่งจบด้วยการจากลา ภาคนี้กลับไม่ค่อยมีช่วงเวลาที่สมหวังนัก แต่เป็นความรักแบบ “แอบรัก” เสียมากกว่า ตรงนี้ทำให้นึกถึง Season Change อีก
แล้ว จูนใน Timeline ก็คือ อ้อมใน Season Change นั่นแหละ เพียงแต่เรื่องนี้จะเห็นมุมมองของฝั่งหญิงมากขึ้น และอย่างที่บอกไป ประเด็นนี้ก็สอดคล้องกับเพลงไกลแค่ไหนคือใกล้ ที่เราทำทุกอย่างเพื่อให้ใกล้ชิดกับคนที่เรารักมากขึ้น แต่แม้พยายามทำเท่าไหร่ก็ก็ไม่ใกล้เสียที
คำถามเมื่อรู้ว่าไม่สามารถใกล้ได้แล้ว เรายังจะควรหาทางต่อไปอีกมั้ย ใน Timeline เหมือนจะบอกเราว่าทำต่อไปเถอะ ต่อให้ไม่ได้เข้าไปใกล้เลย แต่ตราบใดที่ยังมีความสุขกับการเดินทางก็ทำไปเถอะ คนที่พูดเรื่องนี้ได้ดีที่สุดในหนังน่าจะเป็น “วัฒน์” ผู้ที่แอบชอบมัทมานาน แต่เขาก็เข้าใจดีกว่ามัทเองก็ยังมีทันในใจ ดังนั้น เขาจึงไม่บีบบังคับให้มัทรักและไม่หนีหายแม้รู้ว่ารักตัวเองจะไม่สมหวัง วัฒน์ยังคงมอบความรักความหวังดีให้กับมัทอยู่เสมอๆ แม้มันอาจจะยังอีกไกลกว่าจะเข้าไปใกล้ แต่เขาก็มีความสุขในการเดินทางของเขา
เต้ย is the Best
The Letter โด่งดังและคลาสสิคได้ส่วนหนึ่งเพราะการแสดงและเคมีของ 2 นักแสดงนำ แอน ทองประสม และ หนุ่ม อรรถพร ธีมากร มาภาคนี้ Timeline นักแสดงก็ยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้หนังเรื่องนี้ดูสนุกและประทับใจ สำหรับ ป๊อก – ปิยธิดา มิตรธีรโรจน์ ในบท มัท ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง ยังคงมอบการแสดงที่ยอดเยี่ยมให้เช่นเคย จะติดขัดหน่อยก็คือด้วยอายุและหน้าตาดูเป็นพี่สาวมากกว่าคุณแม่ ส่วน เจมส์ – จิรายุ ตั้งศรีสุข ในบท แทน ที่อาจเป็นเหตุผลหลักให้ใครหลายคนมาดูเรื่องนี้ ส่วนตัวถือว่าโอเคนะ แสดงดี มีเสน่ห์ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรก แต่ก็เกือบโดนอีก 3 นักแสดงนำกลบเหมือนกัน อาจด้วยตัวบทของแทนที่ออกแบบมาได้ไม่ค่อยน่าเอาใจช่วยสักเท่าไหร่
ที่อยากพูดถึงมากคืออีก 2 นักแสดงนำ ปีเตอร์ – นพชัย ชัยนาม ในบท วัฒน์ และ เต้ย – จรินทร์พร จุนเกียรติ ในบท จูน คนแรกนี่ออกมาไม่เยอะเท่าไหร่ บทบาทก็ไม่มีอะไรมาก แต่ทุกครั้งที่ปีเตอร์ออกมา เราจะรู้สึกได้ถึงความเท่ ความอบอุ่น และความรักที่ไม่ต้องการผลตอบแทน เป็นการแสดงออกถึงความรักของผู้ใหญ่ที่เข้าใจโลกและเข้าใจชีวิต
ส่วนเต้ย คงไม่เกินไปนักถ้าจะบอกว่า เต้ยคือ The Best ของเรื่อง แม้เนื้อเรื่องจะเหมือนเน้นไปที่แทน แต่ตัวละครที่เดินเรื่องหลักจริงๆ คือจูน ซึ่งเต้ยก็สามารถทำให้จูนกลายเป็นผู้หญิงที่หลายคนต้องหลงรักแน่นอน อันที่จริงจะว่าไปจูนนี่ก็คือตัวเต้ยเลยแหละ เพราะสิ่งที่เต้ยถ่ายทอดออกมามันดูเรียล ดูธรรมชาติ ไม่เหมือนกับแสดงอยู่เลย
โดยส่วนตัวชอบเต้ยมานานแล้ว แต่เรื่องนี้จะทำให้ยิ่งรักเต้ยเข้าไปอีก ความน่ารักของเต้ยใน Timeline ไม่ใช่แค่หน้าตา แต่เป็นความน่ารักในทุกๆ การกระทำของตัวละครตัวนี้ และนอกเหนือจากฉากน่ารักๆ กุ๊กกิ๊กๆ ที่เต้ยทำได้ดีแล้ว ฉากดราม่าเรียกน้ำตา เต้ยก็เอาอยู่เหมือนกัน แถมยังถ่ายทอดอารมณ์เศร้าได้เรียลสุดๆ ผมเชื่อว่าหลายคนจะเสียน้ำตาไปกับเต้ยแน่นอน และจะว่าไปสาเหตุหลักที่ทำให้ผมชอบ Timeline ชอบมากกว่า The Letter เสียอีกก็คือ การแสดงของเต้ยในเรื่องนี้นี่แหละ
ความชอบส่วนตัว: 9/10
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
[Review] The Letter – เกาหลีใต้ vs. ไทย: ความเหมือนที่แตกต่าง
Related
- การรักษา Lockjaw - 01/24/2024
- อาการบาดทะยักคืออะไร? - 04/26/2023
- วิธีรักษาซิฟิลิส - 04/24/2023