[Review] The Letter – เกาหลีใต้ vs. ไทย: ความเหมือนที่แตกต่าง
หนึ่งในประเด็นคำถามที่เพื่อนให้โจทย์มาก็ไม่ต่างจากประเด็นที่คนทั่วไปจะถามเมื่อพูดถึงหนังรีเมค/รีบูทคือ ให้เปรียบเทียบทั้ง 2 เวอร์ชันว่าเหมือนหรือต่างกันอย่างไร ความรู้สึกที่มาต่อทั้ง 2 เรื่องเป็นอย่างไร ดังนั้น ในทีนี้ขอพูดถึงจดหมายทั้ง 2 ฉบับใน 3 ประเด็นด้วยกันคือ ความเหมือน ความต่าง และความรู้สึก แต่แจ้งให้ทราบไว้ก่อนว่า เนื้อหามีการ Spoil เนื้อเรื่องเยอะเหมือนกัน
-ความเหมือน-
The Letter เวอร์ชั่นเกาหลีใต้ (ชื่อเกาหลีคือ Pyeonji) ออกฉายเมื่อปี 1997 นำแสดงโดย “ปาร์คชิยัง” ในบท “ฮวันยู” และ “ชเวจินซิล” ในบท “จองอิน” ซึ่งคนแรก คนไทยน่าจะพอคุ้นเคยกันบ้างจากผลงานเรื่อง Lovers in Paris และซินยุนบก ส่วนเวอร์ชันไทยนั้นออกฉายเมื่อปี 2004 นำแสดงโดย 2 ดาราดังในช่วงนั้นคือ “หนุ่ม-อรรถพร ธีมากร” ในบท “ต้น” และ “แอน ทองประสม” ในบท “ดิว” ซึ่งในช่วงต้นและท้ายของหนังระบุชัดเจนว่าเรื่องนี้เป็นรีเมคจากเกาหลี จะว่าไป The Letter ถือเป็นหนังไทยไม่กี่เรื่องที่รีเมคจากหนังต่างประเทศ (ที่ไปแอบเอามาโดยไม่ได้ขอเขา อันนี้ไม่นับละกัน -_-”)
เนื่องจากเป็นหนังรีเมค โครงเรื่องของทั้ง 2 เรื่องจึงเหมือนกัน เรียกว่าเหมือนกันประมาณ 70% เลยทีเดียว คือดำเนินเรื่องเริ่มต้นจากการที่พระนางได้พบกันโดยบังเอิญเมื่อฝ่ายหญิงทำกระเป๋าสตางค์ตก ต่อมาก็ได้พบกันและเรียนรู้กันจากกลายรักกัน และแต่งงานกันในที่สุด ก่อนจะเข้าสู่ไคล์แมกซ์สำคัญ เมื่อฝั่งชายป่วยเป็นเนื้องอกในสมอง และไม่นานก็จากโลกนี้ไป แต่เขาก็ยังทิ้งจดหมายเป็นตัวแทนแสดงความรักให้กับฝ่ายหญิง เพื่อให้เธอเข้มแข็งมีชีวิตในโลกนี้ต่อไปแม้ไม่มีเขา
โดยตัวเนื้อเรื่องแล้ว The Letter ทั้ง 2 เวอร์ชันก็ไม่ต่างอะไรจากหนังรักเรื่องอื่นๆ ที่มีทั้งช่วงเวลาแห่งความสุข และช่วงเวลาแห่งความเศร้า แต่จะมีเอกลักษณ์ของตัวเองอยู่บ้างด้วยการเอา “จดหมาย” มาเป็นประเด็นหลักของเรื่องในฐานะตัวส่งความรัก ซึ่งการเลือกใช้จดหมาย ส่วนหนึ่งอาจเพราะเป็นสื่อที่ “จับต้องได้” และเราสามารถรู้สึกถึงตัวตนและความรู้สึกของคนส่งได้ผ่านลายมือขอเขา ซึ่งต่างจาก E-mail หรือ Chat ที่เป็นตัวพิมพ์เหมือนๆ กันหมด หลายคนจึงถือว่าจดหมายเป็นสื่อที่ “โรแมนติก” มาก และมันก็เข้ากันได้ดีกับธีมหนังรัก ที่นอกจาก The Letter แล้ว ยังมีหนังรักอีกหลายเรื่องที่ใช้จดหมายเป็นแกนหลัก อย่าง Love Letter, Il Mare หรือ P.S. I Love You
The Letter ทั้งเวอร์ชันเกาหลีใต้และไทยต่างประสบความสำเร็จด้วยกันทั้งคู่ หลายคนโดยเฉพาะผู้หญิงชอบเรื่องนี้มากถึงขนาดร้องห่มร้องไห้ตอนดู แบบว่าเศร้ามาก ซึ่งก็เป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้ เพราะนอกจากเนื้อเรื่องที่เน้นการบีบคั้นน้ำตาอยู่แล้ว (บางทียังรู้สึกว่าพยายามบีบเกินไปด้วยซ้ำ) ด้วยตัวลักษณะการดำเนินเรื่องที่เล่าผ่านมุมมองผู้หญิงเป็นหลัก ในขณะที่ฝ่ายชายเป็นพระเอกแนวสุภาพบุรุษ แสนดี รักธรรมชาติ ฯลฯ มันคือความคาดหวังต่อความรักในรูปแบบที่ผู้หญิงสมัยนั้นอยากจะมี The Letter จึงเข้าถึงคนดูได้จำนวนมาก
-ความแตกต่าง-
แม้ The Letter ทั้งสองเวอร์ชันจะเหมือนกันเสีย 70% แต่มันก็ยังมีความแตกต่างกันอยู่ในหลายจุด และไม่ใช่ต่างกันแค่ประเด็นย่อยๆ ที่ปรับให้เข้ากับประเทศและยุคสมัยอย่าง เช่น อาชีพของนางเอก โลเคชัน พันธุ์ไม้ที่มีบทบาทหลักในเรื่อง สถานที่พระนางเจอกัน ฯลฯ แต่ยังแตกต่างในประเด็นหลักของเรื่องด้วย โดยในเวอร์ชันไทยมีการ “ต่อยอด” ประเด็นเพิ่มเติมจากที่เกาหลีทำไว้ และมีการลงลึกในรายละเอียดบางอย่างที่มากกว่าต้นฉบับ
ในขณะที่ The Letter เกาหลีใต้โฟกัสเรื่องราวไปที่แค่พระนาง ของไทยได้เพิ่มตัวละครอย่างเพื่อนนางเอกเข้าไป ที่แม้จะมีบทบาทไม่มากนัก แต่การจากไปของเพื่อนคนนี้ก็ทำให้นางเอกเกิดเคว้งและรู้สึกโดดเดี่ยวเป็นอย่างมาก จึงไม่แปลกที่ดิวจะรักต้นมาก เพราะต้นเป็นเสมือนที่พึ่งเดียวในชีวิตของเธอ ตรงนี้เวอร์ชันไทยทำได้ดี เพราะมีความพยายามในการอธิบายความเป็นมาว่าทำไมพระนางถึงรักกันขนาดนี้ ในขณะที่เวอร์ชันเกาหลีให้เวลาตรงนี้น้อยไปหน่อย เผลอแป๊ปเดียวแต่งกันแล้ว ของไทยกว่าจะแต่งก็ปาไปเกือบครึ่งเรื่อง ทำให้การส่งต่ออารมณ์ไปยังช่วงเศร้าท้ายเรื่อง ของไทยทำได้ค่อนข้างอินกว่า เพราะเราผูกพันกับความรักของ ต้น-ดิว มากกว่า ฮวันยู-จองอิน แต่ทั้งนี้ จุดที่ชอบในเวอร์ชันเกาหลีคือการนำเสนอช่วงหลังแต่งงานได้น่ารักมาก ของไทยก็น่ารักเช่นกัน แต่อาจจะน้อยกว่า เพราะของไทยใช้เวลาส่วนใหญ่ไปในช่วงก่อนแต่งงานแล้ว
จุดแตกต่างอีกอย่างก็คือ การที่ไทยได้ใส่ประเด็นเรื่อง “E-Mail” และ “Chat” เข้ามา เพื่อให้เกิดการเปรียบเทียบกับ “จดหมาย” โดย Chat นั้นในหนังค่อนข้างจะเป็นภาพลบ เพราะนำไปสู่เรื่องเศร้า ขณะที่ E-Mail ก็ถูกวิจารณ์ในหนังว่า ใช้ยาก และไร้ความรู้สึก ทั้งหมดนี้ทำขึ้นเพื่อให้จดหมายมีบทบาทที่โดดเด่นมากขึ้น ยิ่งการเพิ่มจดหมายของคุณยายไว้ในเรื่อง ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้ต้นเริ่มเขียนจดหมาย (ของเกาหลี ฮวันยูเขียนจดหมาย เพราะจองอินชอบจดหมาย) ทำให้เห็นว่าจดหมายเป็นสื่อที่เก็บได้นาน และยังส่งทอดความรู้สึกมาให้คนอ่านได้ แม้เวลาจะผ่านไปแล้วหลายปีก็ตาม ในเกาหลีไม่ได้มีประเด็นนี้ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเพราะในช่วงปี 1997 E-mail อาจจะยังไม่ค่อยได้รับความนิยมสักเท่าไหร่
-ความรู้สึก-
The Letter เกาหลีใต้ นี่เป็นครั้งแรกที่ได้ดูต้นฉบับเรื่องนี้ ซึ่งหลังจากดูสิ่งแรกที่รู้สึกคือ “มันดูไม่ค่อยเหมือนหนังเกาหลี” แม้ว่าตัวเนื้อเรื่องจะเน้นการบีบค้นน้ำตา ตามสไตล์หนังเกาหลีที่คนไทยคุ้นเคย (หนังเกาหลีสไตล์นี้เข้ามาในไทยช่วงหลังปี 2000) แต่ไม่รู้ทำไปดูๆ ไปแล้ว กลับรู้สึกถึงสไตล์แบบหนังญี่ปุ่นในเรื่องนี้ก็ไม่รู้ อาจเพราะในช่วงปี 1997 กระแส K-Pop ยังไม่เกิด วงการบันเทิงของเกาหลีไม่ว่าจะเพลง หนัง ละคร จึงได้รับอิทธิพลจากญี่ปุ่นค่อนข้างเยอะ จนกระทั่งหลังปี 2000 เมื่อเริ่มส่งออกวัฒนธรรมนั่นแหละ ที่เอกลักษณ์ความเป็นเกาหลีในสื่อบันเทิงจึงโดดเด่นขึ้นมา
The Letter ไทย ดูครั้งแรกตอนหนังฉายเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ตอนนั้นอาจด้วยความที่ยังเด็ก เลยแบบค่อนข้างเฉยๆ กับเรื่องนี้มาก (ขณะที่คนอื่นน้ำตาไหลกันเต็ม) คือโอเค มันก็เป็นหนังที่ดีเรื่องหนึ่ง แต่ไม่อินก็เท่านั้น พอมาช่วงนี้ได้กลับมาดูอีกครั้งในวัยที่โตขึ้น แม้จะยังไม่อิน ไม่เศร้า ไม่น้ำตาไหลเหมือนเดิม เพราะหนังเล่าเรื่องผ่านมุมมองผู้หญิง และตัวเราก็ไม่เคยมีความรักแบบในเรื่อง แต่ก็รู้สึก “เข้าถึง” หนังได้มากกว่าเก่า เข้าใจว่าทำไมตัวละครแต่ละตัวถึงทำอย่างนี้ เข้าใจว่าพระนางถึงรักกันขนาดนี้ และเข้าใจว่าทำไมคนถึงชอบหนังเรื่องนี้กันนัก
ถ้าให้เทียบกันแล้ว เกาหลีใต้ vs. ไทย บอกได้เลยว่าชอบเวอร์ชันไทยมากกว่า ไม่ใช่เพราะชาตินิยม แต่เพราะของไทยทำออกมาได้สมบูรณ์กว่าและสดชื่นกว่า ซึ่งก็ควรจะเป็นเช่นนั้น เพราะของไทยสร้างทีหลัง ทำให้มีโอกาสค้นหาจุดแข็ง-จุดอ่อนของต้นฉบับ และเพิ่มเติมให้มันดียิ่งขึ้นได้ อีกอย่างที่ชอบคือเวอร์ชันไทยดูสดชื่น มีชีวิตชีวามากกว่า อันเป็นผลจากโลเคชันที่ฝั่งเราสวยกว่า โดยจึงรวมถึอว่า The Letter เป็นหนึ่งในตัวอย่างหนังรีเมคที่ทำออกมาได้ดี คงประเด็นหลักเดิมตามต้นฉบับไว้ และเพิ่มเติมต่อยอดให้เหมาะสมกับยุคสมัยและประเทศไทยได้อย่างเหมาะสม
อย่างไรก็ตาม ถ้าพูดถึงหนังรักที่ใช้จดหมายเป็นแกนหลัก อันดับหนึ่งในใจยังคงเป็น “Il Mare”
ป.ล. ช่วงต้นบอกไปว่า “Timeline จดหมาย-ความทรงจำ” เป็นหนังกึ่งภาคต่อของ The Letter ใช้คำว่ากึ่งเพราะ Timeline นั้นมีเนื้อหาที่ต่อจาก The Letter ในประมาณ 20 ปีต่อมา แต่ด้วยเหตุผลด้านลิขสิทธิ์ ทำให้มีการเปลี่ยนชื่อตัวละคร จาก “ดิว” เป็น “มัท” จาก “ต้น” เป็น “ทัน” และไม่มีการพูดถึงอย่างเป็นทางการว่านี้คือภาคต่อของ The Letter
- การรักษา Lockjaw - 01/24/2024
- อาการบาดทะยักคืออะไร? - 04/26/2023
- วิธีรักษาซิฟิลิส - 04/24/2023