[Review] The Great Passage – ฉันรักพจนานุกรม

พจนานุกรม เป็นหนังสือรวมรวบคำศัพท์และความหมาย ที่ทุกคนรู้จักและใช้กันเยอะทั้งในการเรียนและการทำงาน แต่พจนานุกรมก็ไม่ใช่หนังสือที่เราน่าจะหยิบขึ้นมาอ่านเล่นในเวลาว่างกันสักเท่าไหร่ และดูออกจะเป็นหนังสือที่น่าเบื่อไม่น้อย แต่สำหรับ “มิสึยะ มาจิเมะ” (ริวเฮย์ มัตซึดะ) นั้นต่างออกไป พจนานุกรมได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเขา เปลี่ยนแปลงเขา และหนังเรื่อง The Great Passage ก็คือเรื่องราวความผูกพันระหว่างเขากับพจนานุกรมที่มีชื่อเดียวกับหนัง “The Great Passage” 

1995

The Great Passage แบ่งการดำเนินเรื่องเป็น 2 ช่วงหลักๆ โดยครึ่งแรกเรื่องราวเกิดขึ้นในปี ค.ศ.1995 เมื่อสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งมีความคิดจะจัดทำพจนานุกรมฉบับใหม่ที่มีชื่อว่า “The Great Passage” ขึ้น โดยมีคอนเซปท์หลักคือการบันทึกคำในยุคสมัยของการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งคำที่อยู่ในพจนานุกรมฉบับนี้จะมีการบรรจุทั้งความหมายดั้งเดิมของคำ และความหมาย “แสลง” ที่ใช้กันอยู่ในสมัยนั้น แต่ปัญหาใหญ่ก็คือ บรรณาธิการคนหนึ่งต้องการลาออกเพื่อไปดูแลภรรยาที่กำลังป่วย แผนกพจนานุกรมจึงต้องหาคนมาแทนซึ่งผลก็ไปออกที่ “มิสึยะ มาจิเมะ” เซลล์แมนของสำนักพิมพ์ ที่มีเป็นหนอนหนังสือตัวยง แต่ขณะเดียวกันก็มีปัญหาเรื่องการสื่อสารและแสดงความรู้สึกอย่างรุนแรง

บุคลิกภาพแบบนี้ของมาจิเมะจริงๆ ก็พบได้บ่อยในกลุ่มตัวเอกหนัง/ซี่รีส์ญี่ปุ่น เป็นตัวเอกที่มีความเฉิ่มๆ เนิร์ดๆ โลกส่วนตัวสูง และสื่อสารกับคนอื่นไม่เก่ง ซึ่งมันก็สะท้อนมาจากสังคมญี่ปุ่นที่เป็นสังคมเมือง มีการแข่งขันสูง นำไปสู่สภาพปัจเจกที่คนบางส่วนเลือกขังตัวเองไว้ในโลกของตน นานวันเข้าก็กลายเป็นคนที่มีปัญหาเรื่องการสื่อสาร ซึ่งสิ่งที่หนัง/ซี่รี่ส์ญี่ปุ่นที่มีตัวเอกลักษณะนี้มักหยิบมาเล่าก็จะเป็นเรื่องความพยายามที่จะสื่อสารกับคนอื่นของคนเหล่านี้ The Great Passage ก็อยู่ในข่ายนั้น เพียงแต่ว่าเรื่องนี้เลือกใช้ “พจนานุกรม” เป็นตัวเชื่อมระหว่างมาจิเมะกับโลกภายนอก

งานพจนานุกรมเหมือนจะเป็นงานที่ไม่มีอะไรและน่าค่อนข้างน่าเบื่อ แต่ในอีกมุมหนึ่งมันก็เป็นงานที่ยากและท้าทาย เราจะเขียนความหมายของคำต่างๆ ได้อย่างไรให้คนอ่านอ่านแล้วเข้าใจได้ง่าย โดยเฉพาะกับศัพท์แสลงต่างๆ คำบางคำไม่อาจหาคำนิยามได้จากหนังสือ แต่ต้องหาคำนิยามมันด้วยตัวเอง นั่นคือสิ่งที่มาจิเมะได้จากการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ The Great Passage แต่เดิมนั้นมาจิเมะเป็นคนเก็บตัวและพยายามหลีกเลี่ยงการสื่อสารกับผู้อื่น เขาให้เหตุผลว่าเพราะเขาไม่รู้ว่าคนอื่นคิดอย่างไร เลยไม่รู้ว่าจะหาคำแบบไหน ความหมายไหน มาใช้ในการพูดคุย แต่ในทางกลับกันถ้ามาจิเมะไม่เริ่มสื่อสารแล้วเขาจะเข้าใจคนอื่น เข้าใจคำต่างๆ ได้อย่างไร เช่นเดียวกันกับ “ความรัก” ซึ่งเป็นหนึ่งในคำที่หัวหน้า บก.มอบหมายให้มาจิเมะเขียนความหมาย เขาจะเข้าใจความหมายได้จริงๆ ก็ต่อเมื่อเขากล้าที่จะสื่อสารกับคนที่เขารัก

ช่วงแรกของ The Great Passage จึงเป็นเหมือนกำลังใจให้คนสื่อสารกันมากขึ้น เรียนรู้ความหมายร่วมกันมากขึ้น เพราะในแง่การสื่อสารแล้ว เมื่อไหร่ที่เราเข้าใจความหมายตรงกัน นั้นคือความสำเร็จของการสื่อสาร ที่น่าสนใจคือในขณะที่ “พจนานุกรม” มีส่วนทำให้เกิดการ “แช่แข็งควาหมาย” เพราะทำให้ความหมายของคำหยุดนิ่ง (อย่างน้อยก็สิบปีหรือจนกว่าจะมีพจนานุกรมเล่มใหม่ออกมา) แต่หนังเรื่องนี้กลับทำให้ภาพพจนานุกรมมีลักษณะเป็นการบันทึกช่วงเวลามากกว่าเป็นการแช่แข็ง เปลี่ยนสถานะจากหนังสือเล่มหนาอันแสนน่าเบื่อกลายเป็นตัวกลางที่ทำให้คนได้สื่อสารกันได้อย่างน่าประทับใจ

2008

ในครึ่งหลัง หนังเปลี่ยนมาเล่าในอีก 13 ปีต่อมา ซึ่งเป็นช่วงท้ายของการจัดทำพจนานุกรม The Great Passage ใช้แล้ว พจนานุกรมใช้เวลาทำกันนานกว่า 13 ปี และกว่าจะเสร็จจริงๆ ก็กินระยะเวลาเกือบ 20 ปี  เพราะด้วยลักษณะของหนังสือที่ต้องการความถูกต้องของข้อมูลสูง ทำให้ต้องการตรวจพิสูจน์อักษรกันถึง 5 ครั้ง และด้วยเหตุที่คำมีจำนวนมากอีกทั้งยังเกิดขึ้นใหม่อยู่ตลอดเวลา การใช้ระยะเวลานานขนาดนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานก็ใช้เวลาสิบกว่าปีกว่าจะออกมาได้เล่มนึง

มาจิเมะดูเติบโตขึ้นตามวัย แม้จะยังดูเป็นคนเงียบๆ เหมือนเดิม แต่ก็สังเกตได้ถึงความเปลี่ยนแปลง ทั้งทรงผมที่เป็นทรงมากขึ้น และระดับโลกส่วนตัวที่ลดต่ำลง เปิดตัวเองต่อคนอื่นมากขึ้น เมื่อตัวมาจิเมะเติบโตขึ้นและรู้จักสื่อสารกับคนอื่นแล้ว หนังจึงเลือกเปลี่ยนไปเล่นประเด็นความผูกพันที่เขารวมถึงเพื่อนร่วมงานมีต่อ ” The Great Passage” มันอาจไม่ใช่หนังสือที่ขายดีอันดับ 1 หรือมีคนอ่านมากมาย แต่การทำงานกับสิ่งนี้มามากกว่า 10 ปี มันจึงไม่ใช่แค่เรื่องของงานแล้ว แต่มันคือความรัก ความผูกพัน และความภาคภูมิใจเมื่อมันสำเร็จออกมา หนังยังเพิ่มตัวละครใหม่ที่เป็นพนักงานใหม่ของแผนกพจนานุกรม ซึ่งถูกใส่เข้ามาเพื่อเป็นตัวแทนคนดูอย่างพวกเรา ที่เข้าไปทำความเข้าใจว่าทำไมมาจิเมะและเพื่อนร่วมงานถึงทุ่มเทให้กับ The Great Passage ได้ขนาดนี้

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวรู้สึกว่าพลังการเล่าเรื่องในช่วงหลังลดลงไปค่อนข้างเยอะ อาจเพราะการจบประเด็นในครึ่งแรกออกจะง่ายเกินไปและเปลี่ยนเข้าสู่ครึ่งหลังแบบค่อนข้างกระทันหัน อีกทั้งประเด็นในช่วงครึ่งหลังเรื่องความทุ่มเทก็ไม่ได้แปลกใหม่อะไรมากมาย ทำให้อดรู้สึกไม่ได้ว่าครึ่งหลังออกจะเป็นส่วนเกิน และอดคิดไม่ได้ว่าถ้าหนังเลือกตัดครึ่งหลัง แล้วเจาะลึกครึ่งแรกให้มากขึ้น น่าจะทำให้ประทับใจกับ The Great Passage ได้มากยิ่งขึ้น

***

The Great Passage ยังเป็นหนังที่รับเลือกให้เป็นตัวแทนของญี่ปุ่นเข้าชิงรางวัล Oscars สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศเมื่อปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม หนังไม่ผ่านการคัดเลือกในรอบแรก ซึ่งถ้าพิจารณาจากตัวหนังก็เป็นที่เข้าใจได้ เพราะ The Great Passage เป็นหนังที่มีสไตล์แบบญี่ปุ่นชัดเจน ทั้งในแง่มุมกล้อง การเล่าเรื่อง หรือการแสดงที่เน้นความน้อยแต่ให้มาก หลายฉากก็ออกแนวปรัชญาที่เปิดโอกาสให้ตีความได้หลายทาง แถมยังไม่เน้นสร้างจุดพีคตามแบบหนังฝั่งตะวันตก แต่เน้นความนิ่งและเรื่อยๆ ให้ผู้ชมค่อยๆ ซึมซับเข้าไปหนังแทน และอาจเป็นเพราะด้วยความต่างของสไตล์นี้นี่เองที่อาจเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ตกรอบ ใครที่ไม่คุ้นกับสไตล์แบบนี้อาจรู้สึกว่าหนังน่าเบื่อและเข้าไม่ถึงได้ แต่ถ้าใครพอคุ้นเคยมาบ้างก็จะสนุกไปกับ The Great Passage ซึ่งโชคดีที่ผมค่อนไปทางแบบหลัง

ความชอบส่วนตัว: 8/10 

Share

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

จุรีพร โนนจุ่น
Latest posts by จุรีพร โนนจุ่น (see all)