“Daniel Day-Lewis” อาจไม่ใช่ดาราที่มีแฟนคลับมากนัก แต่ก็เป็นหนึ่งนักแสดงที่คนในวงการและนักดูหนังให้การยอมรับนับถือ จากฝีไม้ลายมือทางการแสดง พิสูจน์ได้ 3 รางวัล Oscars และอีกหลากหลายรางวัล รวมไปถึงแนวทางการแสดงแบบ “Method Acting” ที่ไม่ใช่แค่แสดง แต่ต้องทำตัวเองให้ “เป็น” ตัวละครนั้นเลย เพื่อให้เข้าถึงจิตถึงใจตัวละครนั้นจริงๆ ซึ่งในหนังเรื่องล่าสุดของเขา “Phantom Thread” Daniel รับบท “Reynolds Woodcock” ช่างตัดเสื้อยุค 50’s ผู้ใฝ่หาความสมบูรณ์แบบ เขาก็ไปฝึกเป็นช่างตัดเสื้อจริงๆ จริงจังขนาดที่ว่าเขาตัดเสื้อเองได้ และติดใจในอาชีพนี้จนตัดสินใจอำลาชีวิตนักแสดงไปเสียงั้น
“Phantom Thread” จึงกลายเป็นผลงานทิ้งทวนสุดท้ายของนักแสดงผู้นี้ แบบไม่มีใครคาดคิด ซึ่งในแง่การแสดงแล้ว Daniel ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง เขาถ่ายทอดบทบาทของช่างตัดเสื้อออกมาได้เนียนตา ไม่ว่างจะท่วงท่าการวัดตัด ปักเข็ม ถัดทอเส้นด้าย ทุกอย่างล้วนเนียนตาเหมือนเป็นช่างตัดเสื้อมากประสบการณ์จริงๆ ขณะที่ในส่วนของ Part ดราม่า ก็ทำได้อย่างแทบไม่มีที่ติ กับการเป็นบุคคลผู้ใฝ่หาความสมบูรณ์แบบและชอบอยู่ในโลกของตัวเองมากจนบางครั้งทำให้มีปัญหาในการสานสัมพันธ์กับคนรอบข้าง แม้ว่าตัวเขาจะอยากมีความรักมากแค่ไหนก็ตาม
แต่อย่าเพิ่งคิดว่า “Phantom Thread” จะเป็นเพียงหนังขายการแสดงชายเดี่ยวของ Daniel เพียงอย่างเดียว ในแง่เนื้อเรื่องก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน กับการเป็นลานต่อสู้แย่งชิงอำนาจระหว่างเพศชายและเพศหญิง ในขณะที่ Reynolds เป็นช่างตัดเสื้อผู้ต้องการทำทุกอย่างให้อยู่ภายใต้การควบคุมของตัวเอง ซึ่งเขามองว่าเป็นหนทางที่ทำให้เขามีสมาธิและสร้างผลงานออกมาได้ดีที่สุด อีกฝั่งหนึ่ง “Alma Elson” (Vicky Krieps) ผู้ที่เป็นทั้งหุ่นลองเสื้อและคนที่ Reynolds สนใจ ก็ต้องการพื้นที่ให้อีกฝ่ายตระหนักว่าเธอมี “ตัวตน” ไม่ใช่แค่เพียงในฐานะคนที่ต้องคอยทำตามคำสั่งอีกฝ่าย แต่เธออยากเป็นมากกว่านั้น เธออยากเป็นทั้งแรงบันดาลใจ และคนที่ Reynolds ขาดไม่ได้ ซึ่งนั่นหมายความว่า Reynolds ยอมให้เธอมีอำนาจเหนือกว่าแล้ว
ในแง่หนึ่ง Phantom Thread มีความเป็น “Gone Girl” บวกด้วย “The Beguiled” ในฉบับที่ลดความโหดลง มันอาจไม่ใช่หนังต่อสู้ระหว่างเพศที่ดุดันหรือเต็มไปด้วยการชิงไหวชิงพริบ เท่า 2 เรื่องที่ว่า แต่ก็เสริมด้วยความงดงามหรูหราทั้งในส่วนของเสื้อผ้าประกอบฉากและท่วงท่าในการเล่าเรื่อง ที่แม้จะเรียบๆ ในช่วงต้น แต่บทจะเอาจริงก็เจ็บจนจุกได้เหมือนกัน ความรักระหว่าง Reynolds กับ Alma กลายเป็นความรักแบบโศกนาฎกรรมอย่างหนึ่ง ที่แม้ทั้ง 2 จะรักและใฝ่หาซึ่งกันและกัน แต่ทั้ง 2 คนก็มีทิฐิและไม่ยอมกันอยู่ภายใน จนถึงจุดหนึ่งมันก็กลืนไม่เข้าคายไม่ออกในชีวิตคู่
“แม้แต่อาภรณ์ที่สวยงามที่สุด ก็แฝงไว้ซึ่งรอยตะเข็บ” จึงเป็นประโยคที่สามารถอธิบายทั้งเนื้อหาและชีวิตคู่ของตัวเอกในเรื่องนี้ได้ดีที่สุด ไม่มีอะไรที่สมบูรณ์แบบ แม้มองจากภายนอกมันจะสมบูรณ์แบบมากก็ตาม
เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่ Daniel ทิ้งไว้ใน Phantom Thread ไม่ใช่เพียงการแสดงที่ยอดเยี่ยมเท่านั้น แต่ยังคือการส่งพลังและผลักดัน “Vicky Krieps” เธอสู้กับ Daniel ได้อย่างไม่ยอมกัน และการถ่ายทอดพัฒนาการของตัวละคร Alma จากหญิงสาวไร้เดียงสา มาสู่คนที่พร้อมทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองมีตัวตนช่างน่าประทับใจจริงๆ เชื่อว่าเธอจะกลายเป็นดาวดวงใหม่ที่เฉิดฉายใน Hollywood ต่อไปได้ไม่ยาก