[Review] Miss Peregrine’s Home for Peculiar Children – ประหลาด…ฉันว่ามันประหลาด

ออกตัวไว้ก่อนแล้วกันว่าส่วนตัวนั้นอาจไม่ค่อยถูกจริตกับสไตล์ของ “Tim Burton” ที่มักผสมผสานความจริง จินตนาการ ไปจนถึงความหลุดโลก บางช่วงก็สดใส บางช่วงก็ดูมืดหม่น และมักมีมุขตลกร้ายๆ แทรกเข้ามาอยู่เสมอ กลายเป็นรสชาติที่ประหลาดๆ ซึ่งก็คงเป็นเรื่องของต่างคนต่างความคิด ถ้าใครที่ชื่นชอบสไตล์หนังแบบ Tim แล้ว “Miss Peregrine’s Home for Peculiar Children” ก็คงสามารถตอบโจทย์ได้ แต่ถ้าไม่แล้ว หนังเรื่องนี้ก็คงแค่ดูเป็นแค่อีกเรื่องที่ดูเพลินๆ แต่ไม่ติดอยู่ในใจเท่าไหร่ แล้วเราดันเป็นแบบหลังเสียด้วยสิ

“Miss Peregrine’s Home for Peculiar Children” เป็นเรื่องราวของเหล่า “เด็กประหลาด” ซึ่งมีพลังพิเศษในรูปแบบต่างๆ ที่มาอยู่ร่วมกันในบ้านภายใต้ความดูแลของ “Miss Peregrine” เพื่อความปลอดภัยทั้งจากมนุษย์และคนประหลาดด้วยกันเอง ฟังดูเชื่อว่าหลายคนคงนึกไปถึง X-Men กระทั่งเรื่องต้นกำเนิดที่ถูกอธิบายไปในแนวเดียวกันว่าเป็นผลจากยีนส์ ต่างกันตรงที่ใน X-Men เป็นยีนส์กลายพันธุ์ แต่ใน Miss Peregrine อธิบายออกมาในลักษณะของยีนด้อย

อย่างไรก็ตาม ดูแล้ว Miss Peregrine ก็เหมือนจะพยายามฉีกให้ตัวเองออกห่างจาก X-Men เหมือนกัน ในช่วงครึ่งแรกของเรื่อง หนังจึงเสียเวลาไปกับการแนะนำโลกของคนประหลาด ว่าใครเป็นใคร มีที่มายังไง ทำอะไรได้บ้าง ศัตรูคือใคร และกฎของหนังมีอะไรบ้าง ซึ่งกฎหลักที่ถูกนำมาเล่นในเรื่องนี้ก็คือเรื่อง “วังวนเวลา” ที่บ้าน Miss Peregrine จะมีการรีเซทเวลาทุกวัน ส่งผลให้คนในบ้านอายุเท่าเดิมตลอด แม้เวลาภายนอกจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ตาม กระนั้นก็เหมือนหนังจะอธิบายเรื่องกฎเวลาในเรื่องได้ไม่เคลียร์นัก ใครตามไม่ทันก็อาจงงได้ และที่เสียดายไปกว่านั้น คือขนาดเสียเวลาปูบทมานาน แต่พอช่วงท้ายทุกอย่างกลับดูเหมือนเร่งรัดไปซะงั้น

อาจเพราะเป็นหนังเกี่ยวกับคนประหลาด ทำให้ดูเข้ากับสไตล์เฉพาะตัวของ Tim Burton ได้ดี ใครชอบสไตล์แบบนี้อยู่แล้ว ก็น่าจะชอบ Miss Peregrine ไม่ยาก แต่ถ้าไม่ เราก็จะเริ่มมองหาอย่างอื่นในหนัง ซึ่งจะว่าไปการเล่นกับวังวนเวลามันทำให้หนังมีประเด็นที่น่าสนใจขึ้นมาคือ เด็กๆ ที่อาศัยอยู่ในวังวนเวลา นั้นเคยรู้สึก “เบื่อ” บ้างหรือไม่ กับการที่ต้องเป็นเด็กอยู่ตลอดเวลา และมันยังโยงไปถึงประเด็นที่ว่า สุดท้ายแล้วความเป็นเด็กมันวัดจากตรงไหนกันแน่ เด็กๆ ในบ้าน Miss Peregrine นั้นถ้าเทียบเวลาจริงก็น่าจะอายุ 80-90 ปีแล้ว แต่ทุกคนกลับดูยังมีความเป็นเด็กเหมือนเดิม ขณะที่ตัวเอกอย่าง “Jake” ที่อายุน่าจะประมาณ 18-19 ปี แต่พอเข้าไปอยู่ในโลกของเด็กประหลาดแล้ว กลับดูเป็นผู้ใหญ่กว่าซะงั้น น่าคิดว่าที่สุดแล้ว “เวลา” ไม่ได้ทำให้เราเติบโตเป็นผู้ใหญ่มากขึน แต่เป็นสิ่งแวดล้อม Jake ได้เจอกับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ และพบเจอคนใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา นั่นทำให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ขณะที่เด็กๆ ในบ้าน Miss Peregrine แม้จะผ่านไปกว่า 20,000 วัน แต่ทุกวันก็มีกิจวัตรเดิม เจอแต่คนเดิม จนทำให้ยังมีความเป็นเด็กอยู่… หรือเปล่า

น่าเสียดายที่หนังแทบไม่ได้แตะประเด็นเหล่านี้เอาเสียเลย พอแนะนำโลกของเด็กประหลาดเสร็จ ก็แนะนำศัตรูประจำเรื่อง แล้วก็เข้าไคล์แมกซ์ปะทะกันเลย 

อีกอย่างที่รู้สึกแปลกๆ กับเรื่องนี้ คือเราไม่อินกับตัวละครเท่าไหร่ เหมือนตัวละครถูก set มาแล้ว ว่าต้องเป็นแบบนี้ ต้องเดินไปนั้น แล้วก็จบลงแบบนั้น อย่าง Jake ถูกวางเป็นพระเอก ดังนั้นด้วยสกิลพระเอกเลยทำให้เขาเปลี่ยนจากวัยรุ่นธรรมดา เป็นผู้นำกลุ่มได้อย่างรวดเร็ว “O’Connor” (Finlay MacMillan) หนึ่งในเด็กประหลาด ถูกวางให้เป็นอริกับ Jake เราได้เลยได้เห็นว่าเขากลั่นแกล้งหรือเหน็บแนม Jake อยู่ตลอด ทั้งๆ ที่ไม่ค่อยเข้าใจเหมือนกันว่าอะไรจะไม่ชอบหน้าขนาดนั้น เหมือนสะกดจิตตัวเองว่าต้องเกลียดกัน เพราะได้รับบทเป็นคู่อริพระเอก ไม่ได้เกลียดกันเพราะความรู้สึกของตัวละครจริงๆ หรืออย่างนางเอก “Emma Bloom” (Ella Purnell) ที่ด้วยความเป็นนางเอก ทำให้เรื่องมันต้องเดินไปว่าพระนางนั้นรักกัน แต่ความรู้สึกว่าทั้ง 2 รักกันนั้นกลับส่งมาไม่ถึงเราเท่าไหร่นัก

โดยรวมแล้ว Miss Peregrine’s Home for Peculiar Children น่าจะเหมาะกับใครที่ชอบสไตล์แบบ Tim Burton ซึ่งเราไม่ใช่หนึ่งในนั้น อย่างไรก็ตาม ถ้ามีอะไรที่ชอบในเรื่องนี้ก็คงเป็นฉาก Stop Motion และการเอาเรื่อง “เวลา” เข้ามาเล่น ซึ่งส่วนตัวชอบหนังที่เกี่ยวกับเวลาอยู่แล้ว แม้เรื่องนี้จะดูเล่นได้ไม่สุดเท่าไหร่ก็ตาม

Share

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

จุรีพร โนนจุ่น
Latest posts by จุรีพร โนนจุ่น (see all)