จริงๆ ก็แอบผิดหวังหน่อยๆ เพราะตอนแรกดันไปนึกถึง “Swing Girls” หนังญี่ปุ่นเมื่อ 10 กว่าปีก่อน เรื่องราวของวงดนตรี Jazz หญิงล้วนที่รวมตัวกันแบบจำเป็น คือไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องสนุกเทียบเท่า Swing Girls แต่คงไม่ห่างกันมาก ซึ่งพอได้ดูจริงกลับกลายเป็นว่าห่างเยอะเลย อาจเป็นที่เราหวังมากไปส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ก็มีหลายคนที่ดูเรื่องนี้สนุกอยู่นะ
“Let’s Go Jets” สร้างจากเรื่องจริงของทีมเชียร์แดนซ์ ของ รร.มัธยมปลายต่างจังหวัดของญี่ปุ่น ที่ตั้งเป้าจะคว้าแชมป์การแข่งขันเชียร์แดนซ์ของอเมริกามาให้ได้ ถือเป็นเป้าที่ใหญ่เกินตัวทีเดียว ตัวหนังดำเนินเรื่องแบบการ์ตูนญี่ปุ่น มีความโอเวอร์ในหลายๆ จุด ซึ่งถ้าทำได้ดี จังหวะแม่นๆ มันก็สนุกนะ เพียงแต่เรื่องนี้ค่อนข้าง “ฮากริบ” เสียเป็นส่วนใหญ่ ช่วงชั่วโมงครึ่งแรกรู้สึกถึงความ Dead Air หลายช่วงมาก ตัดต่อก็แบบเหมือนไม่ได้เน้นลงลึกอะไรสักอย่าง ที่สำคัญนี่เป็นหนังแข่งขันเชียร์แดนซ์ ที่มีฉากแข่งเชียร์แดนซ์น้อยมาก ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่เรื่องการซ้อมและเรื่องราวเบื้องหลังมากกว่า พอถึงฉากแข่งจริงก็ตัดอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ชอบใน Let’s Go Jets ก็คือช่วงครึ่งชั่วโมงสุดท้ายหนัง ที่หนังเจาะประเด็น “ทีมเวิร์คแบบญี่ปุ่น” อาจเพราะช่วงนี้เราเริ่มตามไอดอลฝั่งญี่ปุ่นอยู่ด้วย ซึ่งถึงแม้ตัวเนื้อเรื่องของ Let’s Go Jets จะเป็นเรื่องของชมรมเชียร์แดนซ์ แต่ในแง่หนึ่งมันก็คือการจำลองโลกและกฎเกณฑ์ของไอดอลญี่ปุ่นมาให้เห็นเหมือนกันนะ
เมื่อก่อนเคยคิดว่า “มิตรภาพ” คือพื้นฐานสำคัญของ “ทีมเวิร์ค” แต่สำหรับทีมเวิร์คแบบญี่ปุ่น สิ่งที่สำคัญสุดคือ “การเห็นเป้าหมายร่วมกัน” คนในทีมอาจมีการทะเลาะ มีความเหม็นขี้หน้า ไม่ลงรอยกันได้ แต่ทุกคนต้องเป็นมืออาชีพพอที่จะทำงานร่วมกันไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ด้วยกันได้ การส่งเสริมให้เกิดความขัดแย้งในวงดูจะเป็นสิ่งจำเป็นด้วยซ้ำ อย่างเช่นที่ใน Let’s Go Jets เราได้เห็นโค้ชที่เข้มงวด ใช้คำพูดถากถางน้ำใจเด็ก ตัดสินใจดันคนใดคนหนึ่งมาเป็น Center โดยไม่ไว้หน้า Center เดิมทั้งนี้ ก็เพื่อให้คนในทีมเกิดลูกฮึด อยากพิสูจน์ว่าตัวเองก็ทำได้ดีเหมือนกัน ซึ่งรูปแบบนี้มันค่อนข้างไปกันได้กับค่านิยมญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญกับ “ส่วนร่วม” มากกว่า “ส่วนตัว” ไม่ได้ว่าตัวเองคือปัจเจกเดียวๆ แต่มองว่าตัวเองคือส่วนประกอบสำคัญของระบบ การประสบความสำเร็จจึงไม่ใช่แค่ตัวเองได้ดี แต่ระบบโดยรวมต้องไปได้ดีด้วย แน่นอนหากไปอยู่ในสังคมแบบอื่น คนในทีมอาจชิงดีชิงเด่นกันเองจนทีมพังก็ได้
ส่วนตัวเพิ่งมาตามไอดอลญี่ปุ่น หลักๆ ก็ Nogizaka46 แต่เท่าที่ดูวัฒนธรรมภายในทีมก็ไม่ต่างจากใน Let’s Go Jets คือไม่ได้สนิทกันทุกคน มีเขม่นกันบ้าง มี Center ฟ้าประทานบ้าง ยิ่งถ้าได้ดูพวกสารคดีไอดอลจะเห็นได้ชัดว่า ไม่สนใจจะปกปิดความขัดแย้งภายในวงเลย แต่สุดท้ายทุกคนก็ต้องทำงานร่วมกันให้ได้ นอกจากนี้ Let’s Go Jet’s ยังมีอีกหลายอย่างที่ทำให้นึกถึงวงการไอดอล ทั้งเรื่องความสำคัญของ Center กฎห้ามมีแฟน รุ่นพี่รุ่นน้อง การให้ความสำคัญกับเสน่ห์ที่ถ่ายทอดออกมาเหนือกว่าแค่เต้นพร้อมเพรียงกัน ฯลฯ ดูๆ ไปแล้วนึกเทียบเคียงกับไอดอลที่เราตามก็พอเพลินดี
ดังนั้น แม้โดยรวม Let’s Go Jets อาจฮาแป๊กๆ ไปบ้าง แต่สำหรับใครที่สนใจติดตามวงการไอดอลญี่ปุ่น (คิดว่าคงมีคนเริ่มสนใจหลายคนจาก BNK48) ก็น่าสนใจมาดูเรื่องนี้กันนะ