[Review] Let Me Eat Your Pancreas- Introvert vs. Extrovert แตกต่างอย่างเข้าใจ

แนวคิดการแบ่งประเภทคนที่เป็นที่พูดถึงกันอย่างมากในปัจจุบัน คือการจำแนกประเภทตามลักษณะนิสัยของบุคคล จนได้คน 2 กลุ่มใหญ่ๆ นั่นคือ (1) Introvert เป็นกลุ่มที่โลกส่วนตัวสูง เก็บตัว และชอบที่จะมีความสุขกับการอยู่คนเดียว กับ (2) Extrovert เป็นกลุ่มที่ชอบเข้าสังคม เปิดเผย และกล้าแสดงออก อย่างไรก็ตาม ก็มีนักวิชาการจิตวิทยาที่มองว่ามีหลายคนเช่นกันที่บุคลิกทั้ง 2 แบบในตัว ซึ่งจะเรียกว่า Ambivert

จริงๆ แนวคิดเรื่อง Introvert กับ Extrovert ก็ไม่ได้ถือเป็นแนวคิดบุคลิกภาพที่ใหม่นัก เพียงแต่ที่ผ่านมานั้น สังคมเรามักให้ความสำคัญกับ Extrovert มากกว่า อาจเพราะแนวคิดที่ว่า “มนุษย์คือสัตว์สังคม” ดังนั้น หากคุณไม่เข้าสังคม ปฏิเสธสังคม คุณก็ผิดปกติแล้ว คนที่มีบุคลิกเก็บตัว (แค่คำว่าเก็บตัวก็มีค่อนข้างมีความหมายแง่ลบแล้วในภาษาไทย) มักถูกมองเป็นแกะดำ และเป็นไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ ในสังคม

อย่างไรก็ตาม กลายเป็นว่าในปัจจุบันนี้ ไม่ว่าจะด้วยสภาพสังคมหรืออะไรก็ตาม นั่นทำให้มีคนที่รู้สึกว่าตัวเองเป็น Introvert มากขึ้น และ “กล้า” ที่จะเปิดเผยตัวเองว่าเป็น Introvert สร้างความหมายใหม่ว่ากลุ่มคน Introvert ไม่ใช่ตราบาปของสังคม พวกเขาแค่เห็นว่าการอยู่กับตัวเองก็มีความสุขได้แค่นั้น อาจเพราะเหตุนี้จึงทำให้การถกเถียงว่าคุณเป็น Introvert หรือ Extrovert เป็นที่พูดถึงในปัจจุบัน

เกริ่นมา 3 ย่อหน้า เข้าเรื่องเลยละกัน “Let Me Eat Your Pancreas” หรือ “Kimi no Suizo wo Tabetai” (ทำไมพอเป็นหนัง/ละครญี่ปุ่นแล้วชอบให้เรียกทับศัทพ์นะ) หรือชื่อไทยว่ากระหนุงกระหนิงว่า “ตับอ่อนเธอนั้น ขอฉันเถอะนะ” ชื่อค่อนข้างแปลก ก็เป็นความพยายามในการแปลให้ซอฟท์แต่ได้ความหมายที่ค่อนข้างใกล้เคียงต้นฉบับที่สุดแล้ว เพราะถ้าให้ต้องแปลตรงตัวกว่านี้คงเป็น “ฉันอยากกินตับอ่อนเธอ” ซึ่งเป็นประโยคสำคัญของเรื่อง โดยตัวหนังอธิบายที่มาว่าเกิดจากแนวคิดของคนสมัยก่อนที่เชื่อว่า หากอวัยวะไหนของเราไม่แข็งแรง ก็ให้กินอวัยวะนั้นของสัตว์อื่นเข้าไปเพื่อรักษา ในเรื่องนางเอกของเราป่วยเป็นมะเร็งตับอ่อน แน่นอนเธอไม่ได้จะกินตับอ่อนพระเอกจริงๆ หรอก แต่ก็เป็นการเปรียบเปรยว่า เธอเองก็หวังจะหายจากโรคนี้เหมือนกันนะ

จริงๆ ประโยค “ฉันอยากกินตับอ่อนเธอ” ในหนังมีอีกความหมายที่ไม่ได้หยิบมาโปรโมต และเป็นความหมายที่ซึ้งมากที่เดียว โดยเฉพาะการหยิบมาขยี้ในช่วงท้าย แบบที่ทำให้เราไม่คาดคิดว่าตับอ่อนจะมีผลต่อต่อมน้ำตาได้ขนาดนี้ แต่จะเป็นความหมายไหน ในที่นี่ไม่ Spoil ละกันครับ

หนังโปรโมตในแง่การเป็นหนังรักวัยเรียน ด้วย Plot สุดแสนจะคลาสสิคเข้าขั้นเชย นั่นคือ โรคร้ายกำลังจะพรากคนที่เรารักไป “ซากุระ ยามากูจิ” (มินามิ ฮานาเบะ) คือผู้โชคร้ายคนนั้น และเธอเลือกจะปิดเรื่องนี้ไว้เป็นความลับ ใช้ชีวิตตามปกติในฐานะเด็กสาวสุดป๊อปในโรงเรียน จนกระทั่งวันหนึ่งด้วยความบังเอิญ (หรือตั้งใจหว่า) “ผม” (ทาคูมิ คิตามูระ) เพื่อนร่วมชั้นที่ไม่มีใครจดจำ ก็มารู้ความลับนี้เข้า กลายเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ของทั้ง 2 คน

เอาเข้าจริง จะเรียก Let Me Eat your Pancreas ว่าเป็นหนังรัก ก็คงไม่เต็มปากนัก เพราะมันก็ไม่ได้ชี้ชัดขนาดนั้นว่าทั้ง 2 คนนั้นรักกัน แต่มันเป็นเรื่องของคน 2 คนที่ต่างกันสุดขั้้ว นั่นคือ ในขณะที่ฝ่ายชายเป็น Introvert เต็มขั้น ไม่ชอบเข้าสังคม มีความสุขกับการอ่านหนังสือในที่เงียบๆ คนเดียว แต่ฝ่ายหญิงนั้นก็เป็น Extrovert เต็มตัวเช่นกัน มนุษยสัมพันธ์ดีมากกกก (จนน่ารำคาญในช่วงแรก) ในขณะที่ฝ่ายชายแทบไม่มีใครจำชื่อได้ เธอกลับเป็นสาวสุดฮอตที่ใครๆ ก็รู้จัก นั่นทำให้ Let Me Eat Your Pancreas ไม่ได้เป็นเพียงแค่หนังรักธรรมดาๆ แต่เป็นเป็นหนัง Coming of Age ที่แฝงแนวคิดการใช้ชีวิตได้ดีด้วย

ท่ามกลาง Plot ที่แสนจะธรรมดา ซึ่งเราก็พอจะเดาตอนจบกันได้อยู่แล้ว (กระนั้นก็มีหักมุมบางอย่างนิดนึงนะ) แต่สิ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้โดดเด่นคือในระหว่างทางนั้น มันเป็นไปด้วยมุมมองการใช้ชีวิตจาก 2 คนที่ต่างกันสุดขั้ว ซึ่งได้ให้แง่คิดดีๆ กับเรามากมาย เรียกได้ว่า แทบจะทุกประโยคในเรื่องเอาไปลงเพจคำคมชีวิตได้เลย และที่สำคัญคือสิ่งที่ทั้ง 2 คนต่างได้เรียนรู้กัน สำหรับ Introvert คือการเรียนรู้ที่จะเปิดตัวเองสู่สังคมมากขึ้น ขณะที่ Extrovert ก็เรียนรู้ที่จะความเข้มแข็งด้วยตัวเองเช่นกัน เป็นการเรียนรู้ที่ไม่ต้องชี้ชัดว่าเป็น Introvert หรือ Extrovert ดีกว่ากัน หรือเรียกร้องให้เราเปลี่ยนไปเป็นอีกฝ่ายไปเลย หนังเพียงต้องการให้เราเข้าใจกันมากขึ้นเท่านั้น

ไม่แปลกใจถ้า Let Me Eat Your Pancreas จะเป็นที่นิยมในญี่ปุ่นมาก คหสต. สุดๆ (ใส่ไว้เพราะไม่ใช่ข้อเท็จจริงเชิงสังคมวิทยา) คือคนญี่ปุ่นเดี๋ยวนี้ดูเหมือนมีความเป็น Introvert มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ชาย อาจเพราะสภาพสังคมที่แรงกดดันสูง ความคาดหวังว่าผู้ชายต้องเป็นหัวหน้าครอบครัว ในยุคที่โลกเปลี่ยนไปแล้ว ผู้ชายบางส่วนจึงเลือกที่จะไม่มีครอบครัว ไม่สุงสิงกับคนมาก ถ้าไม่ใช่เรื่องงาน หรือมีความชอบเดียวกันจริงๆ มีความสุขกับการใช้ชีวิตตัวคนเดียว

นอกจาก Let Me Eat Your Pancreas แล้ว ดูเหมือนว่าช่วงหลังๆ เราจะมีพวกหนัง/ซีรี่ส์ที่พูดถึงคนที่ความคิดแบบนี้มากเช่นกัน อย่างเช่น If Cats Disappeared form the World หรือ We Married as Job ซึ่งมันก็สะท้อนภาพสังคมที่เปลี่ยนไปของญี่ปุ่นได้ในระดับหนึ่ง และยิ่งใครที่รู้สึกว่าตัวเองเป็น Introvert จะยิ่งอินกับ Let Me Eat Your Pancreas เข้าไปอีก เพราะหนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองของผู้ชายกลุ่มนี้เป็นหลัก ตัวผมเองก็โน้มเอียงไปทางด้าน Introvert ก็เลยชอบเรื่องนี้ค่อนข้างมากทีเดียว ส่วนใครที่ไม่ก็คิดว่าอย่างน้อยก็ยังดูเรื่องนี้ได้เพลินๆ อยู่ เพราะไม่ได้ล้นมากไปหรือมีอะไรแปร่งๆ อย่างพวกหนังญี่ปุ่นสาย Live Action จากมังงะส่วนใหญ่

สำหรับคนที่อ่าน Light Novel ต้นฉบับของหนังเรื่องนี้ด้วยแล้ว ฉบับหนังนั้นมีส่วนแตกต่างสำคัญคือการเพิ่มเรื่องราวในอีก 12 ปีต่อมา เมื่อผม (ชุน โอกูริ) ได้กลับมาเป็นครูประจำชั้น ณ โรงเรียนเดิม และเริ่มระลึกถึงความทรงจำวันเก่าๆ ซึ่งส่วนตัวที่อ่านหนังสือมาก่อน ชอบการเพิ่มเติมในฉบับหนังมากกว่า เพราะนอกจากจะทำให้เรื่องดูมีอะไรมากขึ้นแล้ว ระยะเวลา 12 ปีก็ทำให้เราเห็นว่า บางทีเวลาไม่ได้ช่วยให้เราเข้าใจอะไรมากขึ้นเลย ถ้าเราไม่กล้าเปิดใจที่จะเข้าหามันก่อน การตัดสลับเรื่องราวใน 2 Timeline ก็ลื่นไหลและทำให้เราสนใจใคร่รู้สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปมากทีเดียว

อีกสาเหตุที่ชอบในฉบับหนังมากกว่าหนังสือคือ การเว้นพื้นที่ให้เราแทนตัวเองเข้าไป แม้ทั้ง 2 ฉบับจะเล่าผ่านมุมมองเพื่อนร่วมชั้นที่ไม่น่าจดจำเหมือนกัน แต่ในฉบับหนังสือนั้นจะลงรายละเอียดมากกว่า แสดงให้เห็นเลยว่าก่อนที่จะออกมาเป็นคำพูดแต่ละประโยคนั้นผ่านกรรมวิธีการคิดอย่างไรบ้าง แต่ในฉบับหนังนั้นเลือกจะถ่ายทอดผ่านสีหน้าท่าทางของตัวละครเท่านั้น หลีกเลี่ยงการใช้ Voice Over แทนความคิด ซึ่งทั้งทาคุมิและชุนถ่ายทอดมันได้ดีมาก เหมือนจะเป็นคนแข็งๆ แต่ข้างในครุ่นคิดและรู้สึกตลอดเวลา การที่ตัวละครไม่ต้องพูดแต่ทำให้เรารู้สึกได้ ส่วนตัวคิดว่ามันดึงเราให้กลายเป็นตัวละครนั้นได้ดีกว่าการบรรยายออกมาเป็นคำพูดเสียอีก

Let Me Eat Your Pancreas อาจไม่ใช่หนังรักที่พีคมากมาย แถมมีเนื้อเรื่องที่สุดแสนจะธรรมดา เทียบกันแล้วปีนี้ Tomorrow I’ll Date Yesterday You สามารถทำให้น้ำตาแตกได้มากกว่า กระนั้นในแง่มุมของการเป็นหนังที่ถ่ายทอดเรื่องราวของชีวิต มันก็เป็นหนังที่สะกดเราได้ และดูจบแล้วที่ได้มากกว่าความซึ้ง ก็คือการกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราควรใช้ชีวิตแบบไหน เพราะชีวิตอาจไม่ได้อยู่กับเรานานเท่าที่อยากจะให้เป็น

สุดท้ายนี้คงต้องทิ้งท้ายด้วยประโยคนี้

“ฉันอยากกินตับอ่อนเธอ”

ถ้าชอบดูอะไรต่อดี: If Cats Disappeared from this World (2016), Me Earl and Dying Girl (2015)

จุรีพร โนนจุ่น
Latest posts by จุรีพร โนนจุ่น (see all)