[Review] All the Money in the World – เงินซื้อทุกอย่างไม่ได้ แต่ก็ซื้อได้หลายอย่างนะ
“J. Paul Getty” คือนักธุรกิจผู้ก่อตั้งบริษัทน้ำมัน “Getty Oil Company” ซึ่งทำรายได้มหาศาลในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่งผลให้เขากลายเป็นมหาเศรษฐีที่แสนร่ำรวย ขนาดที่ว่า Guinness Book บันทึกว่าเขาคือ บุคคลผู้ร่ำรวยที่สุดในโลกในปี 1966 ด้วยทรัพย์สินที่มีอยู่กว่า 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 9.05 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อคำนวณตามอัตราเงินเฟ้อในปี 2017)
อย่างไรก็ตาม ความร่ำรวยของเขาก็มาพร้อมกับความฉาว โดยเฉพาะกรณีที่หลานชายของเขา “John Paul Getty III” ถูกลักพาตัวในปี 1973 เพื่อเรียกค่าไถ่จำนวน 17 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ J. Paul Getty ปฏิเสธจะจ่ายเงินแม้แต่เพนนีเดียว โดยอ้างว่า “ผมมีหลาน 14 คน ถ้าผมจ่ายค่าไถ่ อีกไม่นานหลานคนอื่นก็จะถูกลักพาตัวด้วย” เขายังกล่าวหาอีกว่าทั้งหมดเป็นการจัดฉากของหลานชายของเขา โดยมี “Gail Harris” แม่ของ Getty III สมรู้ร่วมคิดด้วย แม้สุดท้ายเขาจะยอมจ่าย แต่ก็ด้วยเงื่อนไขว่าเงินค่าไถ่นี้คือเงินกู้ยืมที่ Getty III ต้องจ่ายพร้อมดอกเบี้ยด้วย
เหตุการณ์นี้ถูก “Ridley Scott” หยิบมาทำเป็นหนังเรื่อง “All the Money in the World” ซึ่งเบื้องหลังงานสร้างของหนังเรื่องนี้ก็ถือว่าน่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะเดิมหนังได้ Cast เอา “Kevin Spacey” มาสวมบทบาทเป็น J. Paul Getty ถ่ายทำเสร็จ ตัดต่อเกือบสมบูรณ์ ออก Trailer ทำ PR ไปเรียบร้อยแล้ว แต่แล้วอยู่ๆ Kevin ก็ระเบิดตัวเองด้วยประเด็นล่วงละเมิดทางเพศ จนโดนแบนจากทั้งวงการไป Ridley Scott ตัดสินใจทำในสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิด นั่นคือถ่ายทำใหม่ในส่วนบท J. Paul Getty ใหม่ทั้งหมด โดยให้ “Christopher Plummer” มารับบทแทน ซึ่งช่วงเวลาที่ตัดสินใจกันนี้คือช่วงระยะเวลาประมาณ 1 เดือนก่อนกำหนดฉายเท่านั้น
แต่แล้ว Ridley Scott ก็ทำสำเร็จ เขาใช้เวลาประมาณ 10 วันในการถ่ายทำใหม่ จากนั้นตัดต่อใหม่ โปรโมตใหม่จนสามารถออกฉายได้ตามกำหนดปกติ แถมยังส่งให้ “Christopher Plummer” สามารถเข้าชิงรางวัลสาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมในเวที Oscars 2018 และอีกหลายรางวัลได้ด้วย เสมือนกับว่า หนังเรื่องนี้ไม่เคยมี Kevin Spacey อยู่เลย
กระนั้น เรื่องก็ไม่จบง่ายๆ เพราะในช่วงก่อนหนังฉายไม่นาน ก็มีข่าวว่า “Mark Wahlberg” ผู้รับบทอดีต CIA ผูช่วยของ J. Paul Getty ในเรื่องนี้ ได้รับค่าตัว 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากการถ่ายทำซ่อมครั้งนี้ ขณะที่ “Michael Williams” ผู้รับบท Gail Harris และถือเป็นนำของเรื่อง ได้รับค่าตัวจากการถ่ายทำซ่อมไม่ถึง 1,000 เหรียญสหรัฐฯ เพราะ Michael รวมถึง Ridley ตั้งใจทำงานให้ฟรี เพื่อให้การถ่ายทำซ่อมสำเร็จ โดยรับค่าตัวเฉพาะในอัตราค่าแรงขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น มีข่าวว่า Michael กับ Ridley ถึงกลับรู้สึกว่าตัวเอง “ถูกทรยศ” เลยเมื่อได้ยินข่าวของ Mark พอมีประเด็นขึ้นมาสุดท้าย Mark ก็เลยตัดสินใจประกาศยกเงินค่าตัวจากการถ่ายทำซ่อมให้กองทุนต่อสู้ทางกฎหมาย Time’s Up โดยบริจาคในนามของ Michael ไปเลย
เห็นได้ว่า ทั้งเรื่องจริงและเบื้องหลังการสร้างของ All the Money in the World นั้นทั้งน่าสนใจ ทั้งดราม่า ทั้งน่าติดตามอย่างมาก มากจนรู้สึกว่าตัวหนังของ All the Money in the World ทำไมมันช่างแสนธรรมดาเช่นนี้ คือมันก็ดูเพลินๆ ได้หนังวางตัวเองอยู่บนความครึ่งๆ กลางๆ ระหว่างการเป็น Thriller แข่งกับเวลาเพื่อช่วยเหลือเหยื่อเรียกค่าไถ่ หรือการเป็น Drama ถกเถียงเรื่องคุณค่าของเงินกับชีวิต แล้วมันไปไม่สุดทั้ง 2 ทาง
ตัวหนังขับเน้นบทบาทของ “Gail Harris” (Michael Williams) ขึ้นมาเป็นตัวเอกในเหตุการณ์ลักพาตัว เพื่อจะชูประเด็นเรื่องความรักที่แม่มีต่อลูก ที่มีค่ายิ่งกว่าเงินทอง ซึ่งทำให้เธอเป็นคู่ขัดแย้งกับ John Paul Getty ที่ไม่ต้องการจ่ายเงินในเรื่องนี้ มีความรู้สึกว่าหนังปูความสัมพันธ์ภายในครอบครัว Getty ไม่พอ จนเราไม่อินกับเรื่องเท่าไหร่ โดยเฉพาะมุมมองของ Getty III ที่มีต่อครอบครัว ไม่ว่าจะแม่ของเขา หรือกับตาของเขา
ตามเรื่องจริง Getty III ค่อนข้างเป็นเด็กมีปัญหาพอสมควร ทั้งความเกเร ย้ายโรงเรียนบ่อย เคยต้องโทษจำคุกเพราะปาระเบิดใส่กลุ่มผู้ประท้วง ยาเสพย์ติด ใฝ่ฝันอยากจะเป็นจิตรกรและใช้ชีวิตแบบฮิปปี้ ซึ่งค่อนข้างจะเป็นไลฟ์สไตล์ที่ขัดใจปู่ไม่น้อย แม้ในหนังจะมีการกล่าวถึงชีวิตเสเพลของ Getty III อยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้ลงลึกมากนัก ซึ่งน่าเสียดาย เพราะภูมิหลังของ Getty III น่าจะเป็นวัตถุดิบชั้นดีในการอธิบายว่าทำไม J. Paul Getty ถึงไม่เชื่อในเรื่องการลักพาตัว รวมถึงยังสามารถเล่นประเด็นที่ว่า สาเหตุที่ Getty III เป็นแบบนี้เพราะการเลี้ยงดูหรือการตัดสินใจหย่าของ Gail Harris หรือเปล่า
ในหนังยังมี “Fletcher Chase” (Mark Wahlberg) เป็นอีกหนึ่งตัวละครสมทบสำคัญ ในฐานะผู้ช่วยที่ J. Paul Getty ส่งมาช่วย Gail ในเหตุการณ์เรียกค่าไถ่ นัยว่า ไม่ยอมเสียตังค์ค่าไถ่ แต่ให้คนไปช่วยแทน ซึ่ง Fletcher กลายเป็นตัวละครที่จืดจางมาก เพราะไม่ค่อยเห็นบทบาทของเขาในสถานการณ์นี้เท่าไหร่ กลุ่มคนที่ทำให้เรื่องเดินไปข้างหน้าจริงๆ คือเหล่าโจรเรียกค่าไถ่ กลุ่มของ Fletcher, Gail และตำรวจ มีแต่จะดำเนินตามเกมที่โจรวางไว้เท่านั้น ฉากการเจรจาต่อรอง ชิงไหวชิงพริบ ก็ไม่ค่อยเห็นมากนัก ที่ตลกคือช่วงท้ายหนังพยายามสร้างซีนการไล่ล่าขึ้น แต่ก็บิวท์ไม่ขึ้น และก็จบซีนเหล่านั้นลงอย่างง่ายดาย
ว่าไป Mark Wahlberg ไม่ควรได้ค่าตัวถึง 1.5 เหรียญสหรัฐฯ จากการถ่ายซ่อมด้วยซ้ำ (ส่วนตอนถ่ายจริงได้เท่าไหร่ไม่รู้เหมือนกัน) เพราะบทแทบจะไม่มีอะไรเลย น่าจะเป็นบทที่จืดจางที่สุดในหนังช่วงหลังๆ ของเขาเลย
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ดีงามสุดในเรื่องนี้ก็คือการแสดงของ Christopher Plummer ที่ชวนให้สงสัยว่า จะ Cast Kevin Spacey มาทำไมตั้งแต่แรก (แต่จริงๆ Ridley ก็ Christopher อยู่แล้ว เพียงแต่ค่ายอยากได้ Kevin เพราะมีชื่อมากกว่า) Christopher ทำให้เรารู้สึกว่าเขาคือ “คนรวย” จริงๆ ไม่ใช่แค่ที่เพิ่งรวย ซึ่งพลังความรวยในแบบของ John Paul Getty ไม่ใช่แค่มีเงินเยอะ แต่คือ “พลังอำนาจ” ที่จะไม่ต้องใช้เงินต่างหาก
ความคิดที่ว่า พอคนรวยมากๆ แล้วจะใช้เงินเยอะขึ้นนั้นไม่จริงเสมอไป สำหรับคนรวยบางคน ยิ่งรวยมาก จะยิ่งใช้เงินน้อยลง เพราะพวกเขาจะรู้สึกสนุกกับการใช้อำนาจในการต่อรอง ยิ่งได้ราคาต่ำมากๆ ทั้งที่เราจะจ่ายราคาเต็มก็ไม่สะทกสะท้าน จะยิ่งทำให้เรารู้สึกถึงชัยชนะ เป็นความรู้สึกที่เหนือกว่าการมีเงินอีก J. Paul Getty เป็นคนรวยประเภทนั้น ซึ่งในหนังก็มีกล่าวถึงประเด็นที่ว่า J. Paul Getty นั้นหลงใหลในอำนาจ ถึงขั้นขนาดคิดว่าตนคือจักรพรรดิโรมันกลับชาติมาเกิด และใฝ่ฝันที่อยากจะใช้ชีวิตแบบนั้นอีกครั้ง
สำหรับ J Paul Gettyแล้ว เงินทองจึงไม่ใช่เป้าหมายสุดท้าย แต่คือหนทางไปสู่อำนาจต่างหาก และผู้มีอำนาจที่แท้จริงนั้นไม่ต้องใช้เงิน แค่สั่งเอาก็ได้แล้ว
Related
- การรักษา Lockjaw - 01/24/2024
- อาการบาดทะยักคืออะไร? - 04/26/2023
- วิธีรักษาซิฟิลิส - 04/24/2023